ADS


Breaking News

ความอยู่รอดของช้างไทย

     เมื่อพูดถึงช้างคนไทยทุกคนต้องรู้จักเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนบก ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับคนไทยมามากกว่า 200 ปี ตอนเริ่มทำงานประมาณ มิถุนายน 2518 ขณะนั้นมีช้างเลี้ยงของไทย อยู่ประมาณ 800 เชือก อัตราการตาย 10% ต่อปี มีการใช้งานอย่างผิดกฎหมายรวมทั้งมีการทรมานช้างค่อนข้างมาก ความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็คือ ต้องหางานที่เหมาะให้ทำ รวมทั้งควาญช้างต้องได้รับการสั่งสอนและรู้ถึงว่าสิ่งที่ถูกต้องที่จะปฏิบัติกับตัวช้างเป็นเช่นไร 
     ผลที่สุดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 คณะรัฐมนตรีก็อนุมัติและประกาศให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย และปีแรกที่เริ่มก็คือวันที่ 13 มีนาคม 2541 ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งมี ดร.สุวิทย์ ยอดมณี เป็นประธานพร้อมทั้งคณะกรรมการ ซึ่งก็ช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้จนสำเร็จ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 23 ปี
     สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือกฎหมายที่จะนำเข้ามาช่วยช้างพร้อมกับสัตว์อื่นๆ คือ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยคณะกรรมการของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ แห่งประเทศไทย โดยมีคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ ก็ดำเนินการเรื่องนี้มาประมาณ 20 ปี จนเป็นกฎหมายผ่านสภาฯ ออกมาใช้จนถึงปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการช่วยช้างเพื่อให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในอดีต จากอดีตมี 800 เชือก ปัจจุบันช้างเลี้ยงเพิ่มขึ้นมา ประมาณ 4,000 เชือก โดยส่วนตัวแล้วต้องเข้าไปคลุกคลีกับช้างเร่ร่อนค่อนข้างมาก ต้องให้ความช่วยเหลือทั้งช้าง และควาญช้าง ในเวลาเดียวกันก็ได้ประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ จนทำให้ช้างรอดชีวิตได้ ตั้งแต่โรคโลหิตเป็นพิษ (Haemorrhagic septicaemia) หรือโรคคอบวม ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จนถึงโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน (EEHV) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Elephant endotheliotropic herpesvirus รวมถึงต้องหาวิธีป้องกันโรคติดต่อที่อาจผ่านจากตัวช้างมาถึงมนุษย์และสัตว์อื่นได้ คือ ไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) , SARS , MERS และ COVID- 19 ในชีวิตการทำงานต้องผ่านเชื้อแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิด จึงต้องศึกษาธรรมชาติของจุลชีพแต่ละชนิดอย่างละเอียด และหาทางป้องกันให้สัตว์และเจ้าของสัตว์ปลอดภัย. มีอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงคือ การทำลายป่าไม้ และการทำลายสัตว์ป่า โดยเฉพาะพืชสมุนไพร และการบริโภคสัตว์ป่าโดยไม่รู้ว่าในสัตว์ป่าแต่ละชนิดมีทั้งเชื้อ Bacteria Virus Rickettsia Protozoa Fungi ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง เป็นเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่ยังไม่มียารักษา ซึ่งเป็นธรรมดาของธรรมชาติที่จะต้องคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดดำรงอยู่ในธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นในการป้องกันก็คือ ธรรมชาติอยู่อย่างไรก็ให้ดำรงอยู่อย่างนั้น ไม่ควรไปทำลายธรรมชาติ 
     ในช้างก็เช่นเดียวกันจะสอนควาญช้าง พร้อมทั้งทำเป็นตัวอย่างให้ดูว่า การดูแลสุขภาพช้างที่ดีควรทำอย่างไร เช่น หมั่นให้หมอตรวจสุขภาพช้างของตัวเองเป็นประจำ รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ให้ยาป้องกันโรคติดต่อเป็นระยะๆ ทำให้ช้างอยู่ในสภาพที่แข็งแรงตลอดเวลา มีอาหาร น้ำอย่างพอเพียง เป็นต้น โรคที่รุนแรงในช้างปัจจุบันคือ โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน (EEHV) ซึ่งสัตว์จะแสดงอาการและตายภายใน 48 ชั่วโมง โรคนี้ปกติเกิดในทวีปแอฟริกา ซึ่งช้างแอฟริกาจะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้โดยธรรมชาติ แต่ถ้าเกิดในช้างเอเชียส่วนใหญ่มักตาย ในอดีตที่ผ่านมารู้จักโรคนี้เมื่อประมาณ 15 ปี ปีแรกที่ประสบกับโรคนี้ลูกช้างตายไปในปีนั้นประมาณ 50 เชือก บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมาก จำได้ว่าได้ตำหนิควาญช้างที่ไปซื้อจากบริเวณชายแดนด้านตะวันตกอย่างรุนแรง ได้ตั้งเป้าไว้กับตัวเองว่าจะทำให้อัตราการตายลดลงให้ มากที่สุด พยายามหาความรู้จากตำราต่างๆ รวมทั้งพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ ชาวบ้านที่รู้จักสมุนไพร ต่อมาได้ความรู้ด้านสมุนไพรจากรุ่นน้อง คือ นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกระดูก โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งสนใจศึกษาเรื่องสมุนไพร จึงได้นำเอาวิชาความรู้ที่จำได้ในอดีต มาใช้ร่วมกับตัวยาแผนปัจจุบัน จนทำให้ อัตราการตายจากโรค EEHV ในช้างลดลงมาเหลือ 1 - 5% ในช่วง 5 - 10 ปีถัดมา ปัจจุบันจากการสังเกตพฤติกรรมของช้างยังพบอีกว่า สาเหตุโน้มนำที่ทำให้ช้างติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ง่ายคือภาวะความเครียด ซึ่งก็ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ การทำงานตรวจรักษาช้าง ให้ยาป้องกันโรคช้าง ต้องดำเนินการตลอดปี ซึ่ง COVIC -19 ก็เริ่มระบาดเมื่อปี 2562 ก็ต้องให้ความรู้ควาญช้าง และสัตวแพทย์ โชคดีได้ อ.ส.ม. เข้ามาช่วย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การให้ยาป้องกันโรคติดต่อ ทั้งยากินและยาฉีดจะกระทำทุกเดือน แต่ก็ยังมีช้างตกงานเดินทางจากภาคต่างๆ กลับบ้านเกิดที่สุรินทร์ ล้มตายลงจึงต้องให้ความรู้กับควาญช้างถึงเรื่องการใช้ยาฆ่าเชื้อโรค การกลบฝังซากที่ถูกวิธี การปฏิบัติต่อช้างที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดโรค รวมทั้งตัวควาญช้างเองด้วยที่จะเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่ช้างเชือกอื่น การใช้ยาฆ่าเชื้อโรคผสมน้ำเพื่อพ่นตามสถานที่เลี้ยงช้าง พ่นบนตัวช้างและควาญช้าง ในเวลาเดียวกันก็ต้องระวังเรื่อง COVIC -19 ด้วย ข้อสำคัญ การตรวจสุขภาพ การกินยาป้องกันโรคติดต่อ และยาอื่นๆ ที่หมอแนะนำต้องทำโดยเคร่งครัด และสม่ำเสมอ โรค EEHV ในช้าง ในปีนี้ (2564) ก็ยังคงมีเกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าได้รับความร่วมมือจากควาญช้าง อัตราการตายของช้างก็จะไม่สูงเหมือนในอดีต และต้องตระหนักไว้ในใจว่า ช้างจะต้องอยู่คู่กับต้นไม้หรือป่า ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ การปลูกป่าหรือต้นไม้ขึ้นมาจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของช้างดีขึ้น โดยเฉพาะ เรื่องความเครียดที่จะเกิดขึ้นกับตัวสัตว์จะลดลง ป่าไม้จะให้ประโยชน์แก่ช้าง คือเป็นแหล่งอาหารและสมุนไพร ที่อยู่อาศัย อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้ช้างแข็งแรง ทนต่อโรคภัยไข้เจ็บ อยู่คู่กับแผ่นดินไทยตลอดไป.
นายสัตวแพทย์ อลงกรณ์ มหรรณพ
กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย