ไทยชู “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” หนุนเยาวชนรวมพลังพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืน
ไทยมุ่งเน้น “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” รับทศวรรษใหม่ ชูพลังเยาวชนสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ท่ามกลางวิกฤติด้านน้ำ สอดคล้องกับประเด็นหลักที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญสำหรับวันน้ำโลกปี 2564 และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา ขับเคลื่อน ยกระดับความร่วมมือของทุกภาคส่วน พร้อมผลักดันพลังเยาวชนทั่วประเทศ ขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันน้ำโลก (World Water Day) เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจาก น้ำ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งอุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพ โดยมุ่งเน้นการมีน้ำสะอาดอย่างพอเพียงสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และให้ทุกภาคส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งในแต่ละปี องค์การสหประชาชาติ จะกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการดำเนินการในเรื่องน้ำร่วมกัน ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษใหม่ จึงมีนโยบายให้เป็นทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Decade of Action to deliver the Global Goals) รวมถึงประเด็นด้านน้ำ (SDG6: Clean Water & Sanitation) ซึ่งในปีนี้ให้ความสำคัญกับ Valuing Water หรือ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยในวันน้ำโลกปีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีสารถึงประชาชนไทย เพื่อความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตน้ำที่เกิดขึ้นในโลกรวมถึงประเทศไทย ดังนี้.......
นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในเวทีสหประชาชาติ ยันไทยพร้อมร่วมจัดการน้ำยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ปี 2573
วันที่ 18 มี.ค.64 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ในการประชุมผู้นำระดับโลกเพื่อติดตามและส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมายที่เกี่ยวกับน้ำภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2573 “High-Level Meeting on the Implementation of the Water-related Goals and Targets of the 2030 Agenda” ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเข้าร่วม ภายใต้หัวข้อ การขยายความร่วมมือพหุภาคีและเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำและเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 “Scaling-up multilateral cooperation and accelerating concrete action to meet the water-related goals and targets of the 2030 Agenda for Sustainable Development” โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเร่งการขับเคลื่อนประเด็นด้านน้ำภายใต้ทศวรรษของน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 – 2571 ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกยังได้ร่วมแบ่งปันวิธีการทำงาน ประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรค ประเด็นท้าทาย รวมถึงการกระชับความร่วมมือ และยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้สัมฤทธิ์ผล ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุกประเทศทั่วโลก ต้องการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนบนพื้นฐานของความสมดุลและเท่าเทียม
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำถึงท่าทีประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในการจัดการน้ำที่ยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านน้ำ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่องค์การสหประชาชาติ ได้กระตุ้นเตือนประชาคมโลกให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของภาครัฐ การพัฒนากลไกและนวัตกรรม เพื่อลดการใช้ และหมุนเวียนน้ำในภาคการผลิต รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลเพื่อความร่วมมือในการปรับวิถีการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของประชาชนและสังคมไทย ให้พร้อมรับและปรับตัวกับความจำกัดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณมากขึ้นจากภาวะปกติ เพื่อรักษาสุขอนามัยและป้องกันโรค รวมถึงยังเป็นช่วงของการฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน จึงต้องบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นเข็มทิศฟื้นฟูประเทศ มีการการระดมบุคลากรที่เชี่ยวชาญทุกแขนง ร่วมศึกษา แลกเปลี่ยน สร้างนวัตกรรม และใช้ข้อมูลวางแผนอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับมิตรประเทศ พัฒนานวัตกรรม และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในส่วนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าต้นน้ำ การกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า การบำบัดและใช้น้ำหมุนเวียน อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพและมั่นคง
ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนตามกรอบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรลุตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานนโยบายด้านน้ำของประเทศไทย ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล หรือ SDG 6 รวมทั้งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำ ประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์กรนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งประเทศไทยภายใต้การดำเนินการของ สทนช. จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จของเป้าหมายในการ “ให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน” ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันในการพร้อมรับ ปรับตัว รวมถึงป้องกันและลดความเสียหายจากวิกฤติการณ์และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งต่อไป