ชุดหน้ากาก PAPR ฝีมือไทย ชุดเกราะพร้อมรบCOVID-19 กู้วิกฤติทดแทน N95
ในช่วงวิกฤติที่ทั่วโลกกำลังรับมือการระบาดของโควิด-19 ทั้งหน้ากาก N95 และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขั้นพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนและไม่สามารถซื้อหาได้ จึงกลายเป็นโจทย์ให้บุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ สถาปนิก วิศวกร จากภาครัฐและเอกชน มารวมพลังกันสร้างนวัตกรรมเป็นชุดป้องกันเชื้อโรคที่เปรียบเสมือนชุดเกราะสำหรับสู้รบกับโรคระบาด อีกทั้งยังสามารถซักล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) เป็นผลงานที่สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai SUBCON) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมี อ.นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมชุดหน้ากากดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการบูรณาการองค์ความรู้ของอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน รวมตัวเป็นกลุ่ม ThaiMIC กลุ่มสหศาสตร์นวัตกรรมเพื่อโควิด-19 เช่น แพทย์ สถาปนิก วิศวกร และนักเทคนิคการแพทย์ และเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากาก N95 และชุด PAPR ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)
นวัตกรรมชุด PAPR โดยสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. ชุดพัดลมพร้อมตัวกรองอากาศ (Fan Filter Unit) ที่ประกอบด้วยเข็มขัด (Belt) ไส้กรองหยาบ (Pre Filter) และแบตเตอรีสำรอง 2. หน้ากากครอบใบหน้าและศีรษะ (Hood) และแผ่นหน้ากากใส (Face Shield) และ 3. ท่อส่งลม (Breathing Tube) ซึ่งชุด PAPR ที่คนไทยผลิตขึ้นนี้มีความแตกต่างจากชุด PAPR จากต่างประเทศ ตรงหน้ากากครอบใบหน้าและศีรษะที่สามารถใช้งานซ้ำได้ และนวัตกรรมชุด PAPR ยังได้รับการทดสอบการรั่วทุกเครื่องจากบริษัท Q&E International และได้รับใบรับรองว่ามีความปลอดภัย 100%
ชุดพัดลมในชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีจะดูดลมผ่านไส้กรองคุณภาพสูงหรือไส้กรองเฮปา (HEPA Filter) กรองอนุภาคขนาดมากกว่า 0.3 ไมครอน ได้เกิน 99.99% อีกทั้งสร้างแรงดันบวกในหมวกช่วยป้องกันไม่ให้อากาศจากนอกเข้าไป แบตเตอรีทำงานได้เกิน 4 ชั่วโมง ส่วนผ้าที่ใช้ผลิตเป็นหน้ากากครอบศีรษะนั้นใช้ผ้าชนิดเดียวกับอุตสาหกรรมชุดสกี สามารถซักทำความสะอาดได้ด้วยมือหลังผ่านการฆ่าเชื้อตกค้างตามข้อกำหนดของการควบคุม สำหรับแผ่นหน้ากากใสที่ประกอบเป็นหน้ากากสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ ส่วนตัวพัดลมทำความสะอาดด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์ และท่อส่งลมทำความสะอาดด้วยการแช่น้ำฆ่าเชื้อ ซึ่งการทำความสะอาดได้นี้ทำให้ใช้งานชุด PAPR ซ้ำได้หลายครั้ง
ทว่า นพ.เข็มชาติได้ชี้ถึงข้อจำกัดอย่างหนึ่งของชุด PAPR คือการทำงานของชุดพัดลมค่อนข้างเสียงดัง ทำให้ผู้สวมใส่ได้ยินเสียงไม่ถนัด ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่พบได้ในชุด PAPR จากต่างประเทศเช่นกัน จึงเป็นจุดที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ชุด PAPR ที่คนไทยผลิตขึ้นนี้ช่วยแก้วิกฤติการขาดแคลนชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคได้มาก อีกทั้งยังมีราคาประหยัดเนื่องจากมีต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 9,000 บาท ขณะที่ราคาของชุด PAPR จากต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ชุดละกว่า 30,000 บาท แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ไม่สามารถสั่งซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศได้
สำหรับชุด PAPR นี้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลดังกล่าวประกอบด้วย ชุด PE Gown แบบใช้ครั้งเดียวที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนคุณภาพสูง ชุด Cover all ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 100% สามารถใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง และชุด Leg Cover ทั้งหมดรวมเป็นชุดป้องกันเชื้อโรคสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง นพ.เข็มชาติ เปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนชุดพร้อมรบที่ครบถ้วนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการสู้รบกับเชื้อโรค
ทั้งนี้ จากความต้องการอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ส่งมอบชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นโดย GC ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการ เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้งานได้อย่างเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานสูง ดังนั้น อว. จึงมอบหมายให้ วช. ซึ่ง เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว