NIA ชู AgTech4OTOP แพลตฟอร์มตลาดเพื่อเกษตรกร หนุนสตาร์ทอัพเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น สุดปังโต 10 เท่า
ดึงสตาร์ทอัพเกษตรสร้างยอดขายสุดปังให้เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเติบโต 10 เท่า
กรุงเทพฯ 6 มีนาคม 2564 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมมือกับ 3 พันธมิตร กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมทรัพย์สินทางปัญญา สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย จับมือกับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ใช้เรื่องราวดึงเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้าเกษตรที่โดดเด่น สร้างสรรค์สินค้า สร้างแผนทางการตลาดร่วมกันขึ้นบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ทำให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น สู่ช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดงาน AgTech4OTOP Showcase ในการนำเสนอผลงาน 10 สุดยอดสตาร์ทอัพเกษตร ผู้สร้างแพลตฟอร์มตลาดเพื่อเกษตรกร และ 50 OTOP สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากทั่วประเทศ ในการดำเนินงานโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นการต่อยอดกับผลงานที่รับมอบหมายจากรัฐบาลในการพัฒนาสตาร์ทอัพ ให้เป็นนักบุกเบิกทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) โดยเฉพาะในกลุ่มของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีความสำคัญสูงมากสำหรับประเทศไทย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบใหม่ๆ ตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร
“10 สตาร์ทอัพเกษตรสาขาด้านระบบรูปแบบตลาดใหม่ ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ระบบเจ้าของร่วมผลิต ระบบการประมูลสินค้าเกษตร หรือ E-biding ระบบตลาดออนไลน์ หรือ Marketplace และ ระบบการขายออนไลน์ส่งมอบให้ผู้บริโภคและธุรกิจเกษตร (B2B /B2C) จากนั้นมีจับคู่กับ 50 กลุ่มโอทอปเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เรียนรู้ ทดสอบตลาด และใช้เครื่องมือของสตาร์ทอัพในการพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจสินค้าชุมชน เพื่อรองรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล ที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้นให้ ตลอดจนมีเมนเทอร์ระดับมืออาชีพให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อกำจัดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็ง เพื่อสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด”
ตัวอย่างผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่ชัดเจน เฮิร์บ สตาร์ทเตอร์ เป็นสตาร์ทอัพผู้สร้างแพลตฟอร์มตลาดนำผลิต...เปลี่ยนสินค้าเกษตรต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้สร้างเรื่องราวให้กับ มะดัน จังหวัดนครนายก ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลไม้ตำบลท่าทราย บวกกับการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ตรงกลุ่ม ทำให้สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจากปกติขายได้ปีละ 1 แสนบาท การพัฒนาในโครงการฯ สามารถสร้างยอดขายได้ 1 แสนบาทเพียงระยะ 1 เดือนเท่านั้น
อีกกลุ่มหนึ่งอย่างสตาร์ทอัพ เนอเจอร์ฟู๊ด ที่นำข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาอินทรีย์ตำบลหุนกลอง (ลุ่มน้ำเสียวน้อย) และข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ของกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านจันทร์หอมและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์บ้านยะสุข ลงนามสัญญาซื้อขายเพื่อออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโครงการนี้ มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมพัฒนาชุมชน นั่นคือ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” โดยมีโครงการสำคัญคือ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ ที่รู้จักกันดีคือ OTOP ที่มีการลงทะเบียนมากกว่า 100,000 กลุ่ม อยู่ทั่วทุกภูมิภาค ดังนั้น การนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงมีความสำคัญมาก ที่จะมาสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน ผนวกรวมกับรูปแบบการขายใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุควิถีใหม่นี้ ให้เกิดกระจายสินค้าได้ทั้งในและต่างประเทศต่อไป จากโครงการนำร่องในปีนี้ เริ่มต้นด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น จะอยู่ในส่วนกลุ่ม OTOP ด้านอาหาร ซึ่งสามารถนำแนวทางนี้ไปต่อยอดและเชื่อมโยงในอีกหลากหลายกลุ่ม ที่จะไปช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ต่อไป
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาแนะนำตลอดโครงการ กล่าวให้ข้อคิดเห็นว่า ตลอดระยะเวลาโครงการ 4 เดือนที่ผ่านมา ในส่วนของสตาร์ทอัพ และกลุ่มโอทอปเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ได้รับการเพิ่มศักยภาพ เปิดมุมมองใหม่ให้เกิดการเติบโต และได้ลงมือปฏิบัติจริง ในการทดสอบตลาดสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ โดยจะเกิดมิติใหม่ของการพัฒนาสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพไทย เกิดเป็นโมเดลตัวอย่างที่พร้อมในการขยายผลได้ต่อไป โดย สนช. และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ พร้อมร่วมสนับสนุนต่อเนื่องอย่างเต็มที่”
“โดยจากปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมของคนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยประมาณ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2020 หรือโตขึ้นเกือบร้อยละ 7 ในส่วนนี้สินค้าเกษตรอาจจะมีส่วนสร้างยอดขายในโลกออนไลน์ยังมีปริมาณน้อยน้อยมาก แต่การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สตาร์ทอัพด้านการเกษตรในด้านการสร้างตลาดสินค้าเกษตรในรูปแบบใหม่ๆ สามารถพัฒนารูปแบบให้สามารถขยายธุรกิจและเติบโตได้อีกมาก ดังนั้นในโครงการ AgTech4OTOP ให้เกิดการสนับสนุนการขายสินค้าเกษตรจากชุมชนบนแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพไทย มีเป้าหมายเติบโต 10 เท่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพและธุรกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ดร. สุภาพ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 ต่อ 543 081-372 9163 (มณฑา)เว็บไซต์ https://agtech4otop.nia.or.th และ Facebook.com/AgTech4OTOP