สุดปัง! NIA โชว์สตาร์ทอัพด้านเกษตรจับคู่สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ก้าวกระโดดยอดขายโต 10 เท่า
NIA โชว์ผลงานเชื่อมระบบตลาดรูปแบบใหม่ จับคู่สตาร์ทอัพด้านเกษตรและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาดบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ สร้างยอดขายสุดปัง เติบโตเพิ่มขึ้น 10 เท่า!!!!
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ จับมือพันธมิตร กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมระบบตลาดรูปแบบใหม่ จับคู่สตาร์ทอัพด้านเกษตรไทย และกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ร่วมกันพัฒนาสินค้า พร้อมส่งเสริมการสร้างช่องทางตลาดใหม่บนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของสตาร์ทอัพ ดันยอดขายสินค้าเติบโตแบบก้าวกระโดด ชูมะดันและส้มปะปี๊ด จากสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ตลาดออนไลน์ที่สร้างยอดขายเพิ่ม 10 เท่า
https://www.facebook.com/PostUpNewsTH/videos/895499507959367
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความสำเร็จของโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ในโอกาสปิดโครงการและนำเสนอผลงาน 10 สุดยอดสตาร์ทอัพเกษตร ผู้สร้างแพลตฟอร์มตลาดเพื่อเกษตรกร และ 50 OTOP สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากทั่วประเทศ ณ ลานเอเทรียมชั้น 3 เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 6-7 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โครงการนี้ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพด้านการเกษตรจำนวน 10 ราย ได้แก่ AliFarm, Vdev, Cropperz, Local A lot, Farm To, Happy, Find Food, MeZ, NatureFood และ Herbs Starter มาจับคู่กับ50 ผู้ประกอบการสายเกษตรและเกษตรกร จาก 36 จังหวัดทั่วประเทศ ในการร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรในกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อตอบโจทย์การทำเกษตรอัจฉริยะ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรเกิดแนวคิดในการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ ทั้งการบริการ กระบวนการผลิต การตลาด และการประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างไปจากเดิม ทำให้เกิดการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยี และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
“เราเชื่อว่า AgTech Startup จะตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับภาคเกษตรต่างๆ ได้ โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำสตาร์ทอัพสายเกษตรเข้ามาตอบโจทย์การทำเกษตรอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การตลาด และการทำโปรโมชั่นต่างๆ ในรูปแบบที่ใหม่กว่าเดิม ผลสำเร็จของโครงการนี้คือ เกษตรกรที่เป็น GI หรือ OTOP ต่างก็มียอดขายสินค้าในรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ดีขึ้น มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และมีการนำนวัตกรรมมาต่อยอดทำให้ธุรกิจดีขึ้น ในส่วนของสตาร์ทอัพสายเกษตรเองก็จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และได้เรียนรู้ปัญหา หรือ pain point ของเกษตรกร เพื่อจะนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมมาต่อยอดในอนาคต ซึ่งการทำให้สองกลุ่มนี้ได้มาเจอกันนั้น สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจคือ สินค้าเกษตรไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และสามารถสร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค”
ตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งของผู้ประกอบการและเกษตรกรในโครงการนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “น้ำส้มมะปี๊ด” และ “มะดันแช่อิ่ม-มะดันอบแห้ง” ผลิตภัณฑ์จากผลไม้พื้นบ้านที่สามารถสร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการทำตลาดบนแพลตฟอร์มของ Herbs Starter
วรพชร วงษ์เจริญ เจ้าของผลิตภัณฑ์ “น้ำส้มมะปี๊ด” แบรนด์แรบบิทจันท์ โดยวิสาหกิจชุมชนสภากาแฟคนจันทบูร จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงความสำเร็จที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการว่า ได้รับการส่งเสริมจากสตาร์ทอัพในด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยมีการสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ทั้งรูปแบบคลิป และการสร้างเนื้อหาในการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า จนทำให้สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและมีรายได้ถึง 7 หลักภายในระยะเวลาสั้นๆ จากออเดอร์การสั่งซื้อน้ำส้มมะปี๊ดของฝ่ายการตลาดร้านกาแฟพันธุ์ไทยที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลทำให้เกษตรกรหลายสิบครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายและคั้นน้ำส้มมะปี๊ดส่งขายให้กับกลุ่มฯ ด้วย
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ “มะดันแช่อิ่มและมะดันอบแห้ง” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้ตำบลท่าทราย จังหวัดนครนายก ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการ สามารถสร้างยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 10 เท่า
กัญญลักษณ์ พันธุ์อุดม ประธานกลุ่มฯ กล่าวถึงผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการว่า เดิมทางกลุ่มฯ มีการแปรรูปมะดันแช่อิ่มและออกร้านจำหน่ายตามงานต่างๆ แต่มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานและไม่ดึงดูดลูกค้า เมื่อได้ร่วมโครงการและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพคือ Herbs Starter ซึ่งเข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ตลาด จนปรับเปลี่ยนหน้าตาเป็นมะดันแช่อิ่มและมะดันอบแห้งในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดพอเหมาะ ออกแบบให้ดูน่าสนใจ และมีการสร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านคลิป ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เกิดยอดสั่งซื้อถล่มทลายเกินความคาดหมาย
“เราไม่เก่งเรื่องการทำตลาดบนโลกโซเชียล และสินค้าของเราก็ทำในรูปแบบเดิมๆ แล้วนำไปขายตามงานออกร้านต่างๆ แต่เมื่อเข้ามาร่วมโครงการ ก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน จนทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การค้าขายบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย เราไม่คิดว่ามะดันจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากมายได้ขนาดนี้ โครงการนี้จึงช่วยตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการได้ดี เพราะเราเก่งเรื่องแปรรูป ส่วนสตาร์ทอัพก็มาเติมเต็มในเรื่องการตลาดและการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่สนใจของตลาดมากยิ่งขึ้น”
อิสรีย์ นิตยสมบูรณ์ ตัวแทนจากทีม Herbs Starter สตาร์ทอัพที่ร่วมทำตลาด และปั้นให้น้ำส้มมะปี๊ดและมะดันแช่อิ่ม-อบแห้ง เติบโตจนประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มแบบก้าวกระโดด กล่าวว่า แพลตฟอร์มของ Herb Starter เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจของชุมชนตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีการทำงานใน 4 ขั้นตอน คือ การตรวจประเมินศักยภาพในการทำธุรกิจของชุมชน การวางแผนร่วมกันในการพัฒนาและแผนการตลาด การทำสื่อประชาสัมพันธ์ และการทดสอบตลาด โดยมีสมาชิกในกลุ่มที่ดูแลจำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ กาแฟเทพเสด็จจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำไยจากจังหวัดลำพูน หมากเม่าจากจังหวัดสกลนคร มะดันจากจังหวัดนครนายก และส้มมะปี๊ดจากจังหวัดจันทบุรี
ในการทำงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มะดันนั้น ทีมสตาร์ทอัพพบว่ามะดันจากจังหวัดนครนายกมีความแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่นๆ คือมีผลอวบ ใหญ่ เนื้อกรอบ และเมล็ดเรียวเล็ก จึงเข้าไปช่วยในเรื่องของการพัฒนากระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำคอนเทนท์เพื่อประชาสัมพันธ์ตลาด และการทดสอบตลาด รวมทั้งการขยายฐานลูกค้า ทำให้ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะดันมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 10 เท่าจากยอดจำหน่ายเดิม
“ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มะดัน ทีมสาตาร์ทอัพมุ่งไปที่มะดันอบแห้ง เนื่องจากทางชุมชนตั้งต้นเอาไว้แล้ว มีมาตรฐาน อย. แล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องยอดขาย และต้นทุน เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมจะเป็นกล่องของฝาก ซึ่งเรามองว่าการเป็นของฝากมันจำกัดกลุ่มคนซื้อ จึงปรับมุมมองใหม่ว่ามะดันเป็นของทานเล่น และมีการปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง ทำให้มียอดจำหน่ายดีขึ้น ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส้มมะปี๊ดนั้น เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมีความพร้อมของสินค้าอยู่แล้ว สิ่งที่สตาร์ทอัพเข้าไปเสริมก็คือ การถ่ายทอดความรู้และเทคนิคในการทำคอนเทนท์เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ตลาด ให้มีความน่าสนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการทำ Sale Page เพื่อสะท้อนความเป็นผลิตภัณฑ์จากส้มมะปี๊ดในทุกกลุ่มสินค้าให้มีภาพลักษณ์เดียวกัน เป็นการเข้าไปช่วยส่งเสริมแบรนด์ให้กว้างขึ้น”
จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ในปีนี้ ทำให้ในปีต่อๆ ไปจะมีการขยายผลเพื่อให้เกิดแนวร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรไทย สามารถปรับเปลี่ยนและเข้าถึงนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิของเกษตรกรไทยให้กลายเป็นเกษตรอัจฉริยะที่ทำน้อยได้มาก สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น และมีความทันสมัยมากขึ้น กลายเป็นเกษตรที่คนรุ่นใหม่อยากจะทำ
สนใจข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ AgTech4OTOP เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2017-5555 ต่อ 543 และ 08-1372-9163 เว็บไซต์ http://agtech4otop.nia.or.th และ Facebook.com/AgTech4OTOP