ADS


Breaking News

อว. เผยข้อมูลความไม่เท่าเทียมของการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก และข้อสังเกต 6 ประการ

     ➡️(20 กุมภาพันธ์ 2564) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานสถานการณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการวิเคราะห์ตามสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่า "มีความไม่เท่าเทียมกันชัดเจน โดยยอดการจองวัคซีนมากกว่า 50% อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงซึ่งมีจำนวนคนเพียง 16% ของประชากรทั่วโลกเท่านั้น แต่จองวัคซีนแล้วมากกว่าจำนวนประชากร" ในขณะเดียวกันผลการใช้วัคซีนจำนวนเกือบ 200 ล้านโดสซึ่งได้ผลดีและปลอดภัย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการกระจายวัคซีนส่วนเกินไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้น

     🌏ในขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 200 ล้านโดส โดยสหรัฐอเมริกามีการให้วัคซีนมากที่สุด 55.2 ล้านโดส จีนเป็นลำดับสองที่ 40.5 ล้านโดส และเมื่อพิจารณาในสัดส่วนของประชากรแล้วพบว่าอิสราเอลฉีดวัคซีนแล้ว 80% ของประชากร

     ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับวัคซีนโควิดในสัปดาห์นี้ สรุปได้ดังนี้

     1. ประเทศรวยได้วัคซีนมากกว่าประเทศยากจน

     มีความไม่เท่าเทียมกันในแง่การเข้าถึงวัคซีน โดยยอดการจองวัคซีนของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจำนวนวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 50% นั้นถูกจองโดยประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งมีประชากรเพียง 16% ของประชากรทั่วโลก

     2. หลายประเทศจองวัคซีนมากกว่าจำนวนประชากร

    ประเทศรายได้สูงจำนวนมากได้จองวัคซีนไว้มากกว่าจำนวนประชากรของประเทศตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดเนื่องจากไม่แน่ใจว่าวัคซีนชนิดใดจะมีประสิทธิภาพสูงหรือมีความปลอดภัย รวมทั้งการบริหารจัดการระยะเวลาการส่งมอบวัคซีน

     -แคนาดา ได้จองวัคซีนไว้ 9.2 เท่าของประชากร 

     -สหราชอาณาจักร 6.1 เท่าของประชากร 

     -ออสเตรเลีย  4.9 เท่าของประชากร 

     -นิวซีแลนด์ 4.4 เท่าของประชากร

     -สหรัฐอเมริกา 4.3 เท่าของประชากร 

     เป็นต้น

     3. ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เข้าถึงวัคซีนโดยโครงการ COVAX

     แผนการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ของโครงการ COVAX ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั้งในประเทศรายได้สูง รายได้ปานกลางและรายได้ต่ำนั้น ได้ระบุว่ามีเป้าหมายการส่งมอบวัคซีนกว่า 2,000 ล้านโดสภายในปี 2564 โดยอย่างน้อย 1,800 ล้านโดสจะส่งมอบให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางกว่า 92 ประเทศ โดยครึ่งปีแรกของปี 2564 จะมี 145 ประเทศได้รับวัคซีนซึ่งครอบคลุมประชากรประมาณ 3.3%

     4. หลายประเทศใช้นโยบายการทูตเกี่ยวกับวัคซีน

     ประเทศที่มีกำลังในการผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ได้ใช้กลไกการบริจาคและช่วยเหลือโดยให้วัคซีนแก่ประเทศต่างๆ ในแง่การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม เช่น จีน ได้ประกาศแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก ได้ให้ความช่วยเหลือบริจาควัคซีนที่ผลิตขึ้นในจีนให้กับประเทศกำลังพัฒนา 53 ประเทศ รวมทั้งได้ส่งออกไปแล้วกว่า 22 ประเทศ และประกาศว่าจะบริจาคให้กับโครงการ COVAX อีก 10 ล้านโดส


     5. วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้วมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และปลอดภัย

     ในสัปดาห์นี้ มีผลการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่สำคัญ คือ

     - ประสิทธิภาพของวัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

     - ประสิทธิผลของวัคซีน สามารถลดความรุนแรง ทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงได้ชัดเจน

     - ความปลอดภัยของวัคซีน วัคซีนที่ใช้แล้วนั้นมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

     - วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดีหลังการฉีดเข็มแรก รวมทั้งน่าจะสามารถเพิ่มระยะเวลาระหว่างการฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองได้ เป็นการลดภาระในการเร่งฉีดเข็มที่สอง ทำให้สามารถกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปฉีดให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากขึ้น โดยแทนที่จะเร่งฉีดเข็มที่สองก็จะนำวัคซีนนำไปฉีดเป็นเข็มที่หนึ่งให้กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงจะมีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วเพิ่มมากขึ้นอีก

     - ความคงทนของวัคซีน พบว่าสามารถเก็บและขนส่งวัคซีนได้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น ลดข้อจำกัดในการขนส่งและการกระจายวัคซีน ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งฉีดได้จำนวนมากขึ้น

     * มีข้อกังวลเรื่องผลการป้องกันต่อเชื้อที่กลายพันธุ์ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลลดลงต่อเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์โดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้


     6. ประเทศที่จองวัคซีนไว้แล้วเกินจำนวน จะกระจายวัคซีนที่จองแล้วไปยังประเทศอื่นๆ

     จากผลการใช้วัคซีนที่ได้ผลดี จะทำให้หลายประเทศเริ่มเบาใจ และอาจจะสามารถผ่อนแรงการเร่งส่งมอบวัคซีนส่วนที่จองไว้เกินได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศ นำวัคซีนที่ยังไม่ต้องเร่งใช้หรือส่วนที่จองไว้เกิน กระจายไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้น


     แหล่งข้อมูล : CGTN, Bloomberg

     ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)