ADS


Breaking News

ความร่วมมือสนับสนุนจาก ก.แรงงาน สปสช. สู่ภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19

ความร่วมมือสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน

สำนักงานประกันสังคม สู่ภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19

โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

วันที่ 14 มกราคม 2564 ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ตามที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ถึงมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็นดังนี้


1. จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน และสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message

2. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร อาทิ
2.1) ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมมือให้มีการตรวจพนักงานผู้มีเชื้อทั้งรูปแบบการตรวจแบบ rapid test และ PCR
2.2) กักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ โดยภาครัฐ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเอง และสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เหมาะสม

3. มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน การแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้ง ควรขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
ให้สัมภาษณ์

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น กระทรวงแรงงาน โดยดำริของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมได้ทำงานเชิงรุกร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้มีมาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในสถานประกอบการโดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามค่าใช้จ่ายจริง

นางบุปผา พันธุ์เพ็ง
ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม
ให้สัมภาษณ์

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้ทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวเชิงรุกในสถานประกอบการ ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งได้ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน
กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะแถลงรายละเอียดการดำเนินการของมาตรการเชิงรุก โดยมีรายละเอียดให้ทราบดังเอกสารแนบ 

นางบุปผา พันธุ์เพ็ง
ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม
กล่าว

ท้ายที่สุดนี้ ในนามหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนและภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม  ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยว ที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลดีและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร 



หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกภาคส่วน เพื่อทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนและเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป


ข้อมูลประกอบการแถลงข่าว

ความร่วมมือสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สู่ภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19

โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ.2564

เวลา 09.30-11.00 น. ณ ห้อง Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

     ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคโควิด 19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกที่จังหวัดสมุทรสาคร และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ อีกทั้งมีรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการใดๆ ว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด 19

     ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยต่อประชากรแรงงานทุกกลุ่มในสถานประกอบการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อทำงานเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้จำกัดอยู่ในพื้นที่ ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ

     นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มีนโยบายให้มีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการติดเชื้อโรคโควิด 19 ให้แก่ผู้ประกันตนทั้งคนไทยและต่างด้าวในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง เพื่อคัดกรองผู้ประกันตนที่ติดเชื้อให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว และเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ เป็นการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไปยังบุคคลหรือจังหวัดอื่น

     นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม จึงได้นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาการตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการเพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อจากโรคโควิด 19 โดยที่ประชุม มีมติเห็นชอบและกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจและอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด 19 เชิงรุกในสถานประกอบการ สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ดังนี้

     1. สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นชอบให้ได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด 19

     2. สถานพยาบาลที่จะดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติตต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติตต่อกรุงเทพมหานคร

     3. สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าตรวจคัดกรองและค่าบริการอื่นในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (ปัจจุบันไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้งบริการ)

     ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

     อนึ่ง ผู้ประกันตนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 และจำเป็นต้องได้รับการรักษา ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล เช่น ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่ายาต้านไวรัส หรือยาที่เป็นการรักษาเฉพาะโรคโควิด 19


     นอกจากนี้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมยังได้มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด 19 ดังนี้

     1. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย (โควิด 19) กรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากถูกกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือรัฐสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (ตามที่ส่งเงินสมทบ) ไม่เกิน 90 วัน

     2. ลดอัตราเงินสมทบระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม - มีนาคม 2564) จากเดิม นายจ้าง ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท ทั้งนี้ สามารถให้ความช่วยเหลือนายจ้าง จำนวน 486,192 แห่ง และผู้ประกันตน จำนวน 12.7 ล้านคน ทำให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลงรวมจำนวน 15,660 ล้านบาท เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน เพื่อนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ