ADS


Breaking News

เลขาธิการ TSPCA ให้ความคิดเห็นส่วนตัว กรณี ช้างพลายขนุน ถูกยิงเสียชีวิต

     จากกรณีที่ พลายขนุน ช้างป่ากุยบุรี เสียชีวิต จากผลการผ่าชันสูตรโดยทีมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยใช้เครื่องสแกนโลหะ พบกระสุนปืนลูกซอง เบอร์12 (ลูก9) จำนวน 40 เม็ด ลูกกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 2 เม็ด และลูกปลาย จำนวน 1 เม็ด พบกระสุนในใต้เบ้าตา 2 ลูก ขาหน้าด้านซ้าย พบกระสุนในกระดูก 3 เม็ด พบกระสุนทะลุซี่โครง ซี่ที่ 7 และ ซี่ที่ 9 จำนวน 2 เม็ด และกระสุนอีก 38 เม็ด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงวง ใต้รักแร้ และลำตัว พบปอดมีอาการอักเสบบวมแดง ไตบวมสีซีด ตับซีด มีจุดเลือดออก และมีรอยแผลเป็น หัวใจพบจุดเลือดออก ผนังทางเดินอาหารหลุดลอก พบจุดเลือดออกอักเสบแดงและแผลหลุมในกระเพาะอาหาร ขาหน้าขวาบวมแดง พบหนองด้านใน ผลการชันสูตรสันนิษฐานสาเหตุการตาย อวัยวะภายในล้มเหลว ซึ่งสัมพันธ์กับผลค่าโลหิตวิทยา ที่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า มีค่าเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดขาว ค่าตับ และค่าไตผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้ช้างป่าตาย

     ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ให้ความคิดเห็นส่วนตัว รู้สึกเศร้าใจมากที่ช้างป่าโดนยิงด้วยการทารุณกรรม เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาตั้งแต่โบราณ และมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่เสียสละ เพื่อช่วยเหลือช้างป่า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้รักสัตว์ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเกี่ยวกับช้างป่าด้วย ซึ่งนับวันปัญหาจะมีความละเอียดอ่อน 

     สำหรับในแง่กฎหมายขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อสืบหาตัวคนยิงและสาเหตุการยิงช้างพลายขนุนแล้ว  ซึ่งปัจจุบันมี พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กำหนดช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 127 ซึ่งโทษของการล่าสัตว์ป่า ค่อนข้างสูง โดยมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง  ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมาตรา 4 ได้กำนด นิยาม  “ล่า” หมายถึง เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่อย่างอิสระ และให้หมายรวมถึง การไล่ การต้อน การเรียก การล่อ หรือ การอื่นๆ เพื่อ เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่านั้น 

     แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ให้ข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 13 กำหนดให้ ผู้ใดล่าสัตว์ป่าที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้ ด้วยความจำเป็น และภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ (1) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น และ (2) การล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  ดังนั้นจากรณีดังกล่าวก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำว่าได้กระทำไปเพื่ออะไรต่อไป   ซึ่งในขณะนี้ สมาคมป้องการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ได้เสนอผลักดันให้ ช้างป่าและสัตว์ป่าบางชนิด ให้ได้รับการคุ้มครอง จากพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อีกด้วย

     สำหรับปัญหาเรื่องช้างป่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า จากการรุกรานบุกรุกของคน ในการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ช้างเคยอยู่อาศัยมาก่อน ปัญหาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารไม่เพียงพอสำหรับช้างป่า ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้มีช้างป่าจำนวน 3,000-3,500 ตัว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ยิ่งนับวันยิ่งมีแนวโน้มขยายตัวและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เคยมีผู้เชี่ยวชาญติดตาม เกี่ยวกับปัญหาคนกับช้างป่า ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง ปี 2555-2560 พบปัญหาการปะทะระหว่างคนกับช้างป่า มี 107 ครั้ง มีคนเสียชีวิต 45 คน มีช้างล้มตาย 25 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ช้างป่า ตายเพราะถูกไฟฟ้าช็อตและถูกยิง  และในปี 2562 มีช้างป่าตาย กว่า 29 ตัว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของช้างป่า คือบุกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ทางการเกษตร ทรัพย์สิน และชีวิตร่างกายของประชาชนได้

     การแก้ปัญหาช้างป่า หลายภาคส่วนพยายามศึกษาและหาทางแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การลงมือปฏิบัติของคน หน่วยงาน ทรัพยากร ระเบียบกฎหมายและอื่นๆ ขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อสภาผู้แทนราษฎร โดย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิทธิสัตว์ ในคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้หยิบยกปัญหาช้างป่าขึ้นมา ทำการศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้จริงๆ  โดยส่วนตัวคาดหวังว่า ครั้งนี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า อย่างเป็นระบบและยั่งยืน สร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและสร้างความเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นกับช้างป่าอย่างแท้จริง  “ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”