ADS


Breaking News

อว. ชูผลงาน วช. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกันโรคโควิด-19 แก่คณะรัฐมนตรี

     กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอผลงานสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่คณะรัฐมนตรีก่อนการประชุม ครม. ชูผลงานเด่นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เพื่อจำแนกเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว นวัตกรรม AI ประเมินการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนแบบเรียลไทม์ นวัตกรรมเครื่องผลิตละอองฆ่าเชื้อ และระบบบริการตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสแบบไฮบริดควบคุมผ่าน IOT สำหรับให้บริการในที่สาธารณะ 

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอแก่คณะรัฐมนตรีก่อนการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล 

     ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ดำเนินการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้หลายส่วน โดยส่วนหนึ่งที่เป็นบทบาทสำคัญของทาง วช. คือการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งในปีที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุนงานดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมในหลากหลายประเด็น เช่น เรื่องระบาดวิทยา การป้องกัน การดูแลผู้ป่วย เวชภัณฑ์ การพัฒนาวัคซีน การพัฒนารหัสพันธุกรรม การเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และ วช. ได้นำผลงานดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจัดนิทรรศการให้คณะรัฐมนตรีเข้าชม ได้แก่ 

     1. ผลงานเรื่อง “ลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ และคณะ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้สามารถจำแนกเชื้อไวรัสโควิด-19จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้การวินิจฉัยในระดับโมเลกุล ด้วยเทคนิค Multiplex-Real-time RT-PCR ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรค ทำให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรการแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น 

     2. ผลงานเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ซึ่งนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประมวลผลภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบคลิปวิดีทัศน์ที่ได้จากกล้องวงจรปิด เพื่อประเมินการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนที่สัญจรในสถานที่ต่าง ๆ ได้ ระบบสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง โดยนับจำนวนและคำนวณอัตราการสวมหน้ากากอนามัยได้ผ่านกล้องวงจรปิด โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปนับด้วยตัวเองในพื้นที่

     นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ 

     1. ผลงานเรื่อง “เครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ 

     2. ผลงานเรื่อง “ระบบบริการตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสแบบไฮบริดควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับการให้บริการบริเวณสถานที่สาธารณะ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ เรืองศิริ และคณะ จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ซึ่งได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์   

     พร้อมกันนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวว่า วช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศปก.ศบค. โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ศปก.นวัตกรรมทางการแพทย์ ได้ให้ความสำคัญต่อการนำงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาร่วมบริหารสถานการณ์ และมาตรการต่าง ๆ ของ ศบค. เพื่อช่วยส่งเสริมมาตรการภาครัฐและมาตรการสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา วช. มีการบริหารทุน และนวัตกรรมด้านโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน โดยมีผลสำเร็จของงานวิจัยทยอยส่งมอบให้แก่หน่วยงานใช้ประโยชน์แล้วอย่างต่อเนื่อง