ADS


Breaking News

วศ. ผนึก 3 หน่วยงาน ผสานกำลังรับรองระบบงานไทย "Single Platform" ตอบสนองผู้ใช้บริการ ด้วยเครือข่าย

วศ. จับมือ 3 หน่วยงาน ผนึกกำลังรับรองระบบงานไทย

ตอบสนองผู้ใช้บริการ ด้วยเครือข่าย Single platform

     วศ. จับมือ 3 หน่วยงาน ผนึกกำลังรับรองระบบงานไทยตอบสนองผู้ใช้บริการ ด้วยเครือข่าย Single platform มุ่งยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำระบบรับรองมาตรฐานเดียวกัน จะช่วยลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ “กอบชัย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแนะอนาคตเชื่อมโยงหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่ม

     เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ 4 หน่วยงาน กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) , สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์(วพ.) , สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) ผนึกกำลังเสริมสร้างประสิทธิภาพ ด้านการเพิ่มผลิตภาพ การมาตรฐานและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานหน่วยงาน จับมือเซ็น MOU ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการรับรองระบบงานในประเทศไทยแบบเครือข่าย Single platform เป็นรูปธรรม นำระบบการรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้พัฒนาบริหารจัดการและพัฒนาผู้ตรวจประเมินให้ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประธานสักขีพยานและนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สักขีพยาน และมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 4 หน่วยงานเข้าร่วมงาน

     นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการรับรองระบบงานในประเทศไทยแบบเครือข่าย Single platform4 หน่วยงานที่ประกอบด้วยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม , กรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และแผนชาติอื่นๆ ด้วยการจัดโครงสร้างที่ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร (Executive committee) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การรับรองให้สอดคล้องเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน โดยนำระบบการรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้พัฒนาผู้ตรวจประเมินร่วมกัน (Share resources) เตรียมความพร้อมการเปิดสาขาการรับรองใหม่เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรหน่วยงานรับรองเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของการรับรองระบบงาน และวางระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล (Database) ระหว่างหน่วยรับรองระบบงานดังกล่าว 

     นายแพทย์ปฐมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทยในรูปแบบเครือข่าย Single platform ตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการ เสริมสร้างศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ หน่วยตรวจ หน่วยรับรอง หน่วยผลิตวัสดุอ้างอิง หน่วยทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการให้ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

     นอกจากนี้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้เข้ามาใช้บริการจะได้รับผลประโยชน์จากการทำงานที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ารับบริการการรับรองระบบงาน จากสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการมีจำนวนมากกว่า 270 หน่วยงาน

     นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของ สมอ. พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทั้ง 3 AB ในการให้การรับรองตามหลักการและแนวทางเดียวกันตามที่ได้ลงนาม MOU ไว้ในวันนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการด้านการรับรองให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่ใช้บริการ และเป็นไปตามแผนปฎิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูล (Database) ต่างๆ ที่ สมอ. มีอยู่ อาทิ รายชื่อหน่วยตรวจ/หน่วยรับรอง และห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้ง 3 หน่วยงานที่มาร่วมลงนาม MOU สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของ สมอ. และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”

     นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือด้านการรับรองระบบงานของประเทศไทยในแบบเครือข่าย (Single platform) เพื่อบูรณาการและพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ให้การรับรองได้รวดเร็ว ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพททย์ได้ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการรับรองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ในปีพ.ศ. 2561 เปิดให้บริการในระบบ Fast Track ประกันเวลาไม่เกิน 90 วัน พ.ศ. 2562 เปิดใช้ระบบ e-Accreditationลดเวลาจาก 220 วัน เหลือไม่เกิน 120 วัน และจะพัฒนาให้เหลือไม่เกิน 60 วันในปีพ.ศ. 2565 ดังนั้นกระผมจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เกิดการลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการรับรองของประเทศให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ช่วยยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สนับสนุนให้เกิดสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และแผนชาติอื่นๆ ต่อไป

     นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “มกอช. มีความยินที่จะสนับสนุนให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงฯ ทั้งภาครัฐและเอกชขน โดยการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่าย (Single platform) ที่จะมีการลงนาม MOU ร่วมกันในวันนี้ จะเป็นการแสดงเจตจำนงค์ที่จะร่วมมือกันระหว่าง AB ทั้ง 4 หน่วยงาน ในการพัฒนาการรับรองระบบงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความรวดเร็ว ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฎิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล”

     นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานสักขีพยาน กล่าวว่า  การดำเนินงานในรูปแบบเครือข่าย (Single  platform) เป็นวิธีที่ดีจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาเกษตร สมาพันธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ เทรดเดอร์ ได้ประโยชน์มากมายในการที่จะลดต้นทุน ลดการสูญเสียเวลา ลดความยุ่งยาก ลดงานเอกสารที่ซับซ้อน พร้อมแนะว่า 4 หน่วยงานนี้ยังไม่เพียงพอ อยากให้เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่น ๆ อีก เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมศุลกากร ที่มองว่ามีความจำเป็นและทำให้เกิดประโยชน์จริง ๆ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย