ADS


Breaking News

TSPCA ยื่นจดหมายถึงรองนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดสวัสดิภาพลิงเก็บมะพร้าว

     ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีสื่อต่างชาติได้เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง  เกี่ยวกับการใช้แรงงานลิง   เก็บมะพร้าว โดยมีการให้ข้อมูลว่าเป็นการพรากสัตว์ออกจากป่า มีการฝึกสอนลิงโดยการลงโทษ ทำร้าย กักขัง การใช้โซ่ล่ามคอ การใช้แรงงานลิงอย่างไม่เหมาะสม และมีการอ้างอิงถึงข้อมูลว่ามาจากการศึกษาและการลงพื้นที่ของนักวิจัย ส่งผลให้มีการเรียกร้อง ให้ผู้บริโภคในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หยุดซื้อผลิตภัณฑ์สินค้ามะพร้าวของไทย โดยเฉพาะกะทิสำเร็จรูปและสินค้าอื่น ๆ ที่ทำมาจากกะทิของไทย

     ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็เห็นถึงความตั้งใจจริงของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการและแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายังมีการเผยแพร่คลิปและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ลิงเก็บมะพร้าวของไทย 

     สมาคมฯ จึงได้ทำหนังสือ  ถึง นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการเสนอแนวทางการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เช่น เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการดำเนินงานการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวของไทย ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ อันเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และควรจัดทำโครงการศึกษาแนวทางการจัดสวัสดิภาพสัตว์ลิงกังเก็บมะพร้าวของประเทศไทย เพื่อให้มีแนวทางการศึกษาข้อมูลพื้นฐานอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นระบบครบวงจร โดยใช้กระบวนการทางวิชาการ ตามหลักมาตรฐานสากลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดการมีส่วนร่วมและการยอมรับจากทุกภาคส่วน

    ในอดีตประเทศไทยก็เคยถูกมองจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ หรือสัตว์เพื่อการทดลอง ซึ่งมักจะพบเห็นข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไป เช่น การบริโภคดีงู อุ้งตีนหมี หรือแม้แต่เนื้อสุนัขมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งมีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่เสมอ ข่าวเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกถึงสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทย จนทำให้นานาอารยประเทศถือเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ จากเหตุผลดังกล่าวทำให้มีกลุ่มบุคคลที่มีความรักและเมตตาต่อสัตว์ เกิดความตั้งใจจริง ในอันที่จะหามาตรการยับยั้งป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เหล่านั้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA (Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals) ขึ้น ซึ่งต่อมาสมาคมฯได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับราชสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศอังกฤษ มีภาคีสมาชิกทั่วโลก เป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเป็นผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จนสำเร็จอีกด้ว