ADS


Breaking News

กรณีแมวหลุด อาสากู้ภัยจับไปปล่อย ทราบภายหลังแมวเสียชีวิต

     ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว กรณีแมวหลุดออกจากบ้าน จนมีผู้พบเห็นแล้วแจ้งอาสาสมัครกู้ภัยให้ไปช่วยจับ เพื่อนำแมวไปปล่อย ซึ่งภายหลังทราบว่าแมวเสียชีวิต  กรณีดังกล่าวต้องเริ่มต้นจากตัวเจ้าของแมวว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยง การรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือไม่  เช่น พฤติการณ์ของแมว เมื่อหลุดออกจากกรง มีพฤติการณ์อาจจะไปสร้างความเสียหายจะทำให้ผู้อื่น กลัวภัยถึงขนาดมีความจำเป็น เพื่อป้องกันอันตรายแก่ร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน หรือไม่ ถ้าขนาดนี้ย่อมอาจมีความจำเป็นเพื่อการป้องกันได้ แต่ก็ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว

     สำหรับ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้ให้อำนาจและแต่งตั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่ เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 25 ถึง มาตรา 30  เช่น  ตามมาตรา 26 ในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามเหมาะสม  

     สำหรับอาสาสมัครกู้ภัย ที่จับแมวไปปล่อยนั้น ประเด็นที่สำคัญที่ควรพิจารณา คือ อาสาสมัครกู้ภัยเป็นเจ้าของสัตว์หรือไม่  ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 23 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 32 ซึ่งกำหนด คำนิยาม “เจ้าของสัตว์” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย  มาตรา 23 กำหนดว่า ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ซึ่งถ้าเจ้าของสัตว์หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท 

     ดังนั้น พฤติการณ์แห่งกรณี ข้อเท็จจริง การกระทำ ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับผลของการกระทำ ที่สำคัญคือ “เจตนา” ของอาสากู้ภัยนั้นมีเจตนาเพื่ออะไร และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแห่งวิสัยและพฤติการณ์หรือไม่อย่างไร ก็ต้องไปพิสูจน์กันตามกระบวนการและข้อเท็จจริงต่อไป 

     อย่างน้อยกรณีดังกล่าวก็จะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนเลี้ยงสัตว์และคนที่คิดจะช่วยเหลือสัตว์  เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า สัตว์แม้จะพูดไม่ได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สัตว์ย่อมรับรู้ได้ถึง ความเมตตา และความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมาน การเลี้ยงดูสัตว์อย่างรับผิดชอบ การช่วยเหลือสัตว์เมื่อยามตกทุกข์จึงเรื่องจำเป็นที่มนุษย์พึงจะปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังละเอียดรอบคอบ  สำหรับมนุษย์ด้วยกันเอง การเกื้อกูลเห็นใจ เข้าใจเหตุผลตามสภาพความเป็นจริงด้วยหลักเมตตาธรรมต่อกัน และการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ใช้กระบวนการยุติธรรมย่อมเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่ตั้งใจทำความดีในการช่วยเหลือสัตว์ต่อไป