ADS


Breaking News

"เอนก" มอบนโยบาย วช. และ วว. หนุน "มหา’ลัยแพะ" ต่อยอดสัตว์เศรษฐกิจ จ.กระบี่ ต้นแบบอุดมศึกษา แห่งอนาคต

“เอนก” หนุนมหา’ลัยแพะเป็นต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างเงินให้คนกระบี่
    “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.การอุดมศึกษาฯ เยือนมหา’ลัยแพะ ยกเป็นต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนท้องถิ่นตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาล ชูเป็นมหาวิทยาลัยของภาคประชาชนที่เกิดจากความพยายามของคนในพื้นที่จริง ๆ สร้างงาน สร้างเงินให้คนกระบี่ เตรียมถอดความสำเร็จเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น พร้อมชมงานวิจัย ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หนุนผลิตสัตว์เศรษฐกิจเมืองกระบี่ 
    ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตรวจเยี่ยมมหา’ลัยแพะนานาชาติ กระบี่ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ณ ศรีผ่องฟาร์ม ฟาร์มสาธิตเลี้ยงแพะสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ บ้านน้ำจาน ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของมหา’ลัย และโครงการความร่วมมือในการนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อน Model แพะใน จ.กระบี่ และแพะในพื้นที่ภาคใต้เพื่อความยั่งยืน โดยมี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วย รมว.อว.  ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ และนายกสภามหา’ลัยแพะนานาชาติ กระบี่ ตลอดจนผู้บริหาร อว. และทาง จ.กระบี่ เข้าร่วม
     ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ รมว.อว. ได้มอบนโยบายและกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนสัตว์เศรษฐกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และภาคใต้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการประกวดการแปรรูปเนื้อและผลิตภัณฑ์แพะ พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้เข้ารับการประกวดอีกด้วย 
    ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกได้กล่าวว่า ตนตั้งใจที่จะมาดูมหา’ลัยแพะนานาชาติ จ.กระบี่ ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ทำให้ได้พบของดีที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของไทย มหา'ลัยเป็นมหาวิทยาลัยของภาคประชาชนที่เกิดจากเรี่ยวแรงและความพยายามของคนในพื้นที่จริง ๆ  ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วไปขาดสิ่งเหล่านี้มาก นี่จึงเป็นจุดแข็งของมหา’ลัยแพะ ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ยังทำไม่ได้ และสิ่งที่มหา’ลัยแพะทำสอดคล้องกับโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ อว. เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด ถ้าทุกจังหวัดทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ จะทำให้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันสำเร็จได้ 
     "ขอยืนยันว่าสิ่งไหนที่ อว.จะเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมได้ อว.ยินดีทำให้เต็มที่ แต่เราจะไม่ไปทำแทนคนในท้องที่ เราจะเป็นกองหนุนเพื่อให้ชุมชนได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้คนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของเพื่อให้การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเกิดขึ้นได้จริง หลังจากนี้ อว.จะไปถอดบทเรียนความสำเร็จของมหา’ลัยแพะ เพื่อให้เป็นโมเดลหนึ่งของการเรียนรู้ที่ทำให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้จริง และจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป" รมว.อว.กล่าว 
     ทางด้าน ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงบทบาทของ อว. ที่จะถอดบทเรียนความสำเร็จของมหา’ลัยแพะต่อไปว่า อว. มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมที่จะให้การศึกษาตรงกับการใช้งาน ให้คนเข้ามาศึกษาแล้วสามารถสร้างรายได้ คนทำงานแล้วก็มาศึกษาเพิ่มเติม เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ต้องมีการรับปริญญา เพื่อเสริมการศึกษาในอุดมศึกษาปัจจุบัน 
     "การมาเยี่ยมมหา'ลัยแพะครั้งนี้เราจะทำ 2 อย่าง 1. ส่วนใดที่มหาลัย'แพะทำดีอยู่แล้ว แต่ยังต้องการงานวิจัยเสริมเรายินดีสนับสนุน 2.ขยายความสำเร็จของที่นี่ให้แก่จังหวัดอื่นๆ หรือมิติอื่นๆ ที่ต้องการขยายผลความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแพะ" ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์กล่าว 
     พร้อมกันนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้กล่าวรายงานเรื่องการดำเนินงานขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาร่วมผลักดันการดำเนินการผู้ประกอบการ และชุมชนผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดกระบี่ ซึ่งในส่วนของ วช. ได้นำเสนอนิทรรศการโครงการยกระดับการขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ด้วยการจัดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตน้ำนม อาหารผสม สำหรับแพะเนื้อ และแพะนม การแปรรูปน้ำนมและนวัตกรรม เพื่อประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะ โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ.2563-2565 จำนวน 7 โครงการ
     ประกอบด้วย 1.ศักยภาพทางการตลาดและการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ 2.การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรในภาคใต้ 3.นวัตกรรมอาหารผสมสำเร็จจากเศษเหลือทางการเกษตรและอุตสาหกรรมสำหรับแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ 4.การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะและปรับปรุงพันธุกรรมแพะเนื้อ “ทรัพย์ มอ.1” 5.การเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมน 6.การวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดลิสในแพะ 7.การพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย