AgTech4OTOP รวมพลสตาร์ทอัพพลิกโฉมตลาดเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ธุรกิจยั่งยืน
เชื่อมสตาร์ทอัพกับ 50 เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
พัฒนาตลาดรูปแบบใหม่ สร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดอบรมโครงการ AgTech4OTOP มุ่งสร้างการตลาดรูปแบบใหม่ให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมพล 10 สุดยอดสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพทางการตลาด 50 สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากทั่วประเทศ หวังเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคในวงที่กว้างขึ้น สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจชุมชน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึงการเปิดอบรมบ่มเพาะโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสำหรับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ว่า เป็นโครงการที่มุ่งสร้างสรรค์ตลาดรูปแบบใหม่ให้กับสินค้า OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถพบกับผู้บริโภคได้ในวงที่กว้างขึ้น เป็นการสนับสนุนให้สินค้า OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สามารถสร้างมูลค่า และมีโอกาสในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์เศรษฐกิจในระดับชุมชน
“เกษตรกรรุ่นใหม่นั้นหมายถึงเกษตรกรที่สามารถดึงเอานวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนวัยใด ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับเอานวัตกรรมไปใช้งาน แต่โจทย์ของวันนี้คือเกษตรกรจะต้องมาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง โดยโครงการฯ นี้จะให้เกษตรกรจับคู่กับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร แล้วเรียนรู้ ทดสอบ และใช้เครื่องมือของสตาร์ทอัพในการพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ถือเป็นการพัฒนาตลาดรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายในการทำงานเพื่อรองรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุค New Normal ที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น”
จากซ้าย คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการโครงการ AgTech4OTOP และแกนนำกลุ่มทุเรียนป่าละอู (เกษตรอินทรีย์) GI |
ด้าน คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) กล่าวเพิ่มเติมว่า เอบีซี เซนเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมการเกษตร มีแนวทางในการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่จะเป็นเสมือนนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ของประเทศ ซึ่งสตาร์ทอัพเองก็ต้องการที่จะเชื่อมโยงกับเกษตรกรอยู่แล้ว โดยโครงการนี้เริ่มต้นกับสตาร์ทอัพเกษตรในกลุ่มด้านการตลาดเป็นหลัก แล้วคัดเลือกเกษตรกรในกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น จำนวน 50 รายจากทั่วประเทศ เข้ามาร่วมโครงการฯ โดยสตาร์ทอัพแต่ละรายที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มการตลาดจะมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพัฒนาสินค้าและเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดของสินค้าหรือธุรกิจตัวเองได้มากขึ้น
“สตาร์ทอัพจะทำหน้าที่สำคัญคือ เข้าไปร่วมพัฒนาสินค้าร่วมกับเกษตรกรด้วย เช่น การเข้าไปช่วยสร้างเรื่องราวให้กับสวนหรือผลิตภัณฑ์ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับตราสินค้าหรือแบรนดิ้ง เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างช่องทางการตลาดเชื่อมโยงกับตลาดทั้งในระดับผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจ เช่น ร้านค้า โรงแรมและกลุ่มแปรรูปธุรกิจเกษตร ตลอดจนสร้างตลาดต่างประเทศ ซึ่งสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 10 รายก็จะมีวิธีการทำงานและแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัญหาหรือศักยภาพของเกษตรกรเป็นหลักด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางโครงการฯ ได้มีการปูพื้นฐานในเรื่องแนวทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร และพื้นฐานในด้านเทคนิคการสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแนวทางการสร้างมูลค่าจากเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้กับเหล่าสตาร์ทอัพไปบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อให้สองกลุ่มนี้ได้มาจับคู่กัน ก็จะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างแนวทางการตลาดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วขึ้น”
นุ่ม-วรพชร วงษ์เจริญ หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ AgTech4OTOP เปิดเผยถึงความคาดหวังและสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ว่า ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ด้านการตลาดรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาสินค้า รวมไปถึงรูปแบบการทำตลาดเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งสินค้าของตัวเองนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากพืชท้องถิ่นของจังหวัดจันทบุรี คือ “ส้มมะปี๊ด” ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยส้มมะปี๊ดจะมีคุณสมบัติที่ดีเด่นคือ มีวิตามินซีสูง ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ลดเลือนริ้วรอย โดยมีแนวทางการทำตลาดแบบเดิมที่ทำอยู่ คือการขายผ่านเฟซบุ๊กเป็นหลัก การเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ นี้ นอกจากจะทำให้มีช่องทางการตลาดใหม่แล้ว ยังทำให้เกิดไอเดียในการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และกระตุ้นผู้บริโภคด้วย
คุณหนึ่ง ธิติพันธ์ บุญมี จากแพลตฟอร์ม AliFarm |