‘อิน’ จนต้อง ‘ลงไปสัมผัส’ 121 ปีถนนราชดำเนิน ศิลปะและรสชาติ "ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย"
หลากหลายความทรงจำ
ประสบการณ์และเรื่องเล่าของผู้คนต่างวัยใน “ราชดำเนิน”
แม้มิใช่ชาวกรุงเทพมหานคร แต่ชื่อของ “ราชดำเนิน” ก็เป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีสำหรับคนไทย ด้วยเป็นชื่อของถนนสายสำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานถึง 121 ปี นับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้ขึ้น ด้วยทรงเห็นว่าท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกร (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์กับถนนสามเสน) เป็น ยังไม่มีถนนหลวงให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวก ประกอบกับทรงต้องการใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ถนนสายนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความทรงจำของผู้คนมากมาย ที่ได้บันทึกเรื่องราวหลากหลายผ่านกาลเวลา เป็นเรื่องเล่าต่างมุม ต่างยุค ต่างสมัย ต่างวัย และต่างเจน (Generation)
ในโอกาสครบรอบ 121 ปีถนนราชดำเนิน มิวเซียมสยามจึงได้จัดทำ นิทรรศการ "ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย" ขณะนี้จัดแสดง ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวในหลากหลายแง่มุมของคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีต่อถนนสายนี้ ด้วยรูปแบบนิทรรศการผสานวัยรูปแบบใหม่ ที่จะทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้อย่างสนุก เพลิดเพลิน และ ‘อิน’ ไปกับนิทรรศการ ด้วยการ ‘ลงไปสัมผัส’ กับสถานที่จริง เพื่อสืบค้นเรื่องราวความทรงจำบนถนนราชดำเนินด้วยตัวเอง
ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร นักแสดงสาว ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการฯ ครั้งนี้ เล่าถึงการชมนิทรรศการ "ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย" ว่าเป็นนิทรรศการที่ทำให้ได้รับทราบมุมมองของคนต่างวัย และเรียนรู้ว่าถนนเส้นนี้ได้ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มามากมายอย่างไร เป็นการเปิดมุมมองของตัวเองที่กว้างขึ้นจากที่เคยได้เรียนรู้มา
“การที่จะมาผสานกันได้ ก็เกิดจากเราเปิดกว้าง เปิดใจมาพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกัน ประสบการณ์บนถนนราชดำเนินสำหรับฟรัง ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ซึ่งทุกคนมักได้เห็นกัน แต่ยังมีเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ซึ่งหลายเรื่องเราก็ไม่เคยได้รับรู้ แต่ก็ได้มารู้จากนิทรรศการนี้ ซึ่งมีการประชันความคิดกันเยอะ มันเป็นเวทีที่ทำให้คนต่างวัย ต่างความคิด ได้มาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนมาประชันความคิดกัน ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ นอกจากภาพที่เราเห็นจนชินตาแล้ว ชุมชนเล็กๆ มากมายหลังกำแพง หลังวัด ก็ทำให้เรารู้สึกอยากเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน อยากจะทำความรู้จักในอีกมุมหนึ่งมากขึ้น อย่างเรื่องของคนไร้บ้าน ถนนเส้นนี้ก็มีผลต่อชีวิตของเขาค่อนข้างเยอะ เพราะที่นี่ก็เป็นบ้านของเขา และเขาก็มีอิทธิพลต่อถนนเส้นนี้เหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็อยากได้มาเรียนรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้มากขึ้น จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้มาชมนิทรรศการฯ นี้ค่ะ”
จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการศึกษา วัฒนธรรม สังคมและถ่ายภาพ คือตัวแทนของกลุ่มที่เรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ ที่ถือเป็นผู้สร้างความทรงจำเรื่องสัญลักษณ์ประชาธิปไตยบนถนนสายนี้ โดยเธอกล่าวว่าความทรงจำสำหรับคนวัย 60 ปีขึ้นไปนั้น จะมีความพิเศษเกี่ยวกับถนนราชดำเนินอย่างหนึ่งคือเรื่องของ ‘การเมือง’ เพราะได้ผ่านมาหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม
“ถนนราชดำเนินกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เยอะที่สุด ไม่ว่าเราจะมองจากมุมของสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือการเมืองปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันนี้ได้ถูกตีความไปหลายแบบ ซึ่งนิทรรศการนี้พยายามนำเสนอในสิ่งต่างๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าชมจะถอดรหัสออกมาได้อย่างไร มันแล้วแต่ความรับรู้พื้นฐาน
แต่อยากบอกว่าถนนราชดำเนินมีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้นเยอะ คือสนใจการเมืองได้แต่อย่ามองข้าม ถนนราชดำเนินเป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ ความหรู สนามหลวงสมัยนั้นก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งกินปลาหมึกย่าง ขี่จักรยาน เล่นว่าว มีตลาดนัดที่ขายปลาทอง ชีวิตราตรีก็มีแสงสี มีทั้งบาร์ ทั้งนักร้องใส่ชุดราตรียาว ศิลปินแห่งชาติหลายท่านก็ดังขึ้นมาจากบาร์พวกนี้ มันเป็นยุคที่มีเรื่องอิทธิพลอเมริกันเข้ามาหนักมาก อาคารที่เห็นใครๆ ก็บอกว่าเหมือนปารีส ส่วนตัวเองจะเข้าอาคารศึกษาภัณฑ์พาณิชย์บ่อยที่สุด เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่นักเรียนคนหนึ่งต้องใช้ นิทรรศการนี้ก็พยายามจะประมวลรวบรวมสิ่งที่ผู้คนได้สะสม ได้รื้อฟื้นและซ่อมแซมอดีตของตัวเองบนถนนสายนี้...เพื่อให้คนอื่นได้เข้าถึง”
เรื่องราวที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้ ยังมีประวัติศาสตร์เสี้ยวเล็กๆ ของผู้คนที่มีวิธีการนำเสนอได้น่าสนใจ เป็นความทรงจำส่วนบุคคลที่ทางผู้จัดนิทรรศการไม่ได้ไปชี้นำ แต่เป็นการนำความทรงจำมาจัดเป็นนิทรรศการที่เรียกว่า ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋า’ “การนำเสนอของภัณฑารักษ์วัยเก๋าน่าสนใจมาก ในฐานะนักประวัติศาสตร์เราเห็นว่าการไปขุดคุ้ยสิ่งเหล่านี้มาจัดแสดง มันทำให้มองย้อนเข้าไปในตัวเองว่าเราก็มีอะไรเล็กๆ เหล่านี้มากมาย ที่เมื่อนำเสนอออกไปแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น ก็มีคนมาสนใจสืบหาต่อ หรือบางคนก็มีความจำร่วมกับเรา ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นเสี้ยวส่วนเล็กๆ แต่ว่าซื่อตรง”
และก่อนที่เรื่องราวความทรงจำของสามัญชนหรือชีวิตประจำวันของผู้คนจะลบเลือนหายไปกับกาลเวลา นิทรรศการฯ นี้จึงกำลังบอกเราว่าคนทุกรุ่นควรที่จะบันทึกประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของตัวเอง ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยเพียงใด เพราะหากมุ่งแต่เรื่องของเหตุการณ์ใหญ่ เหตุการณ์สำคัญ รายละเอียดต่างๆ ที่เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า มีเสน่ห์ก็จะถูกลบเลือนไป เราต้องคิดว่าแม้ตัวเราจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในเรื่องราวนั้น แต่เราก็มีความสำคัญมากกว่านั้น...
ด้าน โอภาส สุภอมรพันธ์ หนึ่งในทีมงานภัณฑารักษ์วัยเก๋า เปิดเผยถึงการทำงานร่วมจัดนิทรรศการฯ ครั้งนี้ว่า เป็นการเล่าเรื่องราว จากทีมภัณฑารักษ์ที่มีทั้งหมด 16 คน โดยตัวเองได้มีส่วนในเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับด้านอาหารและรสชาติราชดำเนิน ซึ่งทำให้เขามองเห็นว่าร้านอาหารในราชดำเนินนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2-3 ยุค
คือมีทั้งร้านอาหารเก่าๆ ที่มีอายุ 60-80 ปี ที่ยังเปิดดำเนินการ ซึ่งเป็นรสชาติที่คนรุ่นเก่าๆ โหยหา ขณะเดียวกันก็จะมีรสชาติของคนรุ่นใหม่ คือร้านอาหารและคาเฟ่ใหม่ๆ ที่มาเปิด โดยการผสมผสาน และสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ออกมา คือ ร้านอาหารศรแดง (ปัจจุบันคือ เมธาวลัย ศรแดง) ที่อยู่กึ่งกลางของราชดำเนิน หรือฝั่งตรงกันข้ามเยื้องๆ กันก็มีร้าน Mcdonald's ซึ่งถือเป็นภาพของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการกินของไทยและตะวันตกได้อย่างลงตัว
“นิทรรศการนี้เราเตรียมกันล่วงหน้าปีเศษ การได้มารู้จักน้องๆ ทีมงานได้มาเรียนรู้ใหม่ ทำให้เราเติมไฟมีชีวิตชีวาขึ้นมา จากการได้ไปลงพื้นที่ ไปเดินถนนราชดำเนินเราพบเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือทุกครั้งที่เดินเราจะได้เจอร้านใหม่ ทุกครั้งที่เดินไปในซอยตามซอกหลืบ เราจะได้เห็นว่า เอ๊ะ มีร้านนี้ด้วย หรือบางทีก็ได้เจอเจ้าของร้านมานั่งพูดคุยเท้าความถึงเรื่องประวัติของร้านหรือวิถีชีวิตชุมชน และด้วยวัยหรือความชอบส่วนบุคคลอาจทำให้มีแนวทางในการใช้ชีวิตแตกต่างกันไป แต่ราชดำเนินจะเป็นจุดผสานที่ทำให้คนทั้งวัยปู่ย่า วัยพ่อแม่ และวัยลูกหลาน สามารถมาเดินและใช้เวลาร่วมกันได้”
รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนินที่มีความโดดเด่นและเป็นภาพความทรงจำของใครหลายคนว่า เป็นสถาปัตยกรรม Art deco ที่เป็นผลิตผลมาจากยุคสมัยใหม่ในสังคม ซึ่งในยุคนั้นมีวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่จำพวกกระจก คอนกรีต และวัสดุเหล่านี้นำมาซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดเป็นจิตวิญญานและสุนทรียภาพรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงวัสดุ และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยรูปแบบของ Art deco จะตัดทอนลวดลายแบบคลาสสิคเดิมทิ้งไป แล้วคำนึงถึงเส้นสายทางเรขาคณิต ความเรียบง่าย และภาพรวมเข้ามาแทนที่ รูปทรงของอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงเน้นรูปร่างที่มีความโค้งมน ซึ่งอาคารต่างๆ บนถนนราชดำเนินก็แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศต่างๆ เหล่านั้นอยู่ด้วย
“ศิลปะแบบ Art deco เข้ามาในสังคมไทยพีคที่สุดคือช่วงคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงเห็นการออกแบบที่ประยุกต์เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรด้วย เช่น เส้นสายต่างๆ จะนิยมสะท้อนหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร มีเหลี่ยมมุม 6 อัน เสา 6 ต้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่บางส่วนก็ประยุกต์เข้ากับลายไทย โดยลายไทยก็จะถูกปรับให้เป็นเรขาคณิตมากขึ้น ดูเรียบง่ายมากขึ้น แล้วถูกนำมาประดับตกแต่งอาคาร ลายไทยแบบใหม่จึงเพรียวลม เรียบง่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดองค์ประกอบใหม่ คือความงามจะไม่ได้มาจากการประดับตกแต่ง แต่ยังขึ้นอยู่กับการผสมสานกับแสงเงาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเราดูตึกราชดำเนินในบางมุม เราจะเห็นว่ามีการเล่นดึงเข้าดึงออกของตัวอาคาร ซึ่งถ้าแสงแดดจัดเราก็จะเห็นเงาที่ตกทอด อันนี้จะเป็นความงามในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นกับลวดลาย แต่ขึ้นกับตัวแมทฟอร์มโดยตรง
ตอนผมสอนหนังสือจะพูดเสมอว่า มันเป็นตึกคนละยุคสมัย ตึกกลุ่มนี้เป็นตึกที่ต้องมองโดยสปิริตยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เรียกร้องสปิริตหรือการสร้างคุณค่าในงานแบบใหม่ เราต้องใช้แว่นอีกแบบหนึ่งในการมองและประเมินความงาม ตึกและอาคารพาณิชย์สองข้างทางถนนราชดำเนิน จึงถือเป็นอีกเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากงานประเพณี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นควรจะเกิดขึ้นบนฐานที่ไม่ทิ้งรากเหง้าของอาคารนั้น
ปัจจุบันถนนราชดำเนินกลาง ยังมีการรูปแบบการจัดวาง หรือ setting ที่เก็บรักษารูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของ Art deco เอาไว้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศ ดังนั้น การได้มาชมนิทรรศการและออกไปสัมผัสบรรยากาศด้วยตนเองบนถนนสายนี้ จึงเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นแบบที่ดีที่สุด และไม่มีตัวแบบที่ไหนจะสมบูรณ์ได้เท่านี้แล้ว ...
พบกับเรื่องราวความทรงจำของราชดำเนินในมุมมองที่แตกต่างจากผู้คนหลากหลาย ในรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัยตอบโจทย์ทุกช่วงวัยจากมิวเซียมสยาม ซึ่งเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2563 ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 – 18.00 น. (ห้องสมุดปิดทุกวันจันทร์) และสามารถติดตามข่าวสารและการลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการได้ที่ www.facebook.com/museumsiamfan