ADS


Breaking News

ภัยคาดไม่ถึงในสัตว์เลี้ยง.....โรคมะเร็ง

     สัตว์เป็นโรคมะเร็งได้หรือเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่เสมอว่ามีสาเหตุจากอะไรและจะรักษาได้หรือ เรามารู้จักโรคมะเร็งในสัตว์กัน

     ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา  ไศละสูต หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคมะเร็งในสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ให้ความเห็นว่า ปัญหาโรคมะเร็งในสัตว์เลี้ยงนั้น จากรายงานข้อมูลการศึกษาอุบัติการณ์โรคเนื้องอกในสุนัขของหน่วยพยาธิวิทยาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พบจำนวนของชิ้นเนื้องอกที่ส่งมารับบริการชันสูตร ประมาณ 3000 ราย พบอุบัติการณ์เนื้องอกของผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน สูงถึง ร้อยละ 70 และเนื้องอกของเต้านม ร้อยละ 30  เนื้องอกที่มีอุบัติการณ์สูง 5 อันดับแรก คือ เนื้องอกมาสต์เซลล์, เนื้องอกของผิวหนัง  9.44, เนื้องอกของต่อมข้างรูก้น ร้อยละ 8.76, มะเร็งของเม็ดสีเมลานิน ร้อยละ 7.10 และ เนื้องอกของผิวหนังชนิดอื่นๆ ร้อยละ 6.19  ซึ่งสอดคล้องกับอุบัติการณ์โรคเนื้องอกในประเทศต่าง ๆ

     โรคมะเร็งในสัตว์เลี้ยงพบในสัตว์อะไรบ้าง พบได้ในสัตว์เลี้ยงทุกชนิด สุนัขและแมวจะพบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีผู้เลี้ยงมาก นอกจากนี้ยัง พบในสัตว์อื่นๆ เช่น นก ปลา หนูแฮมสเตอร์ และอื่นๆ   ความสำคัญด้านพันธุกรรม เช่นในสุนัขพันธุ์แท้บางพันธุ์เป็นสาเหตุโน้มนำที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ง่ายกว่าพันธุ์ผสม

     ส่วนใหญ่เจ้าของสัตว์รู้สึกกังวลและหมดหวังเมื่อทราบว่าสุนัขเป็นโรคมะเร็ง เจ้าของสัตว์หลายท่าน เชื่อว่าเมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคมะเร็ง มีทางรอดชืวิตน้อยมาก อายุไม่ยืน ไม่สามารถรักษาได้ แต่หากได้รับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ  ซึ่งควรสังเกตุความผิดปกติในสัตว์เลี้ยงของท่าน และพาไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  แม้ว่าโรคมะเร็งบางชนิดเป็นชนิดร้ายแรง มีทางรอดน้อยมาก หากเจ้าของได้รับทราบการดูแล สัตว์มีความเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด จะเป็นการบำบัดเหมาะสมที่สุด คงจะทำให้เจ้าของเข้าใจและสบายใจขึ้น

     ทางสัตวแพทย์มีทางเลือกอื่นๆที่ให้แสัตว์เหมือนกับทางการแพทย์หรือไม่ ปัจจุบันมีทางเลือกการรักษาและควบคุมโรคมะเร็งนอกจากการผ่าตัด เคมีบำบัด ด้วยวิธีการทางโภชนบำบัด รวมทั้งการฝังเข็มการใช้โภชนบำบัด หรือการบำบัดรักษาโรคด้วยอาหาร ในทางสัตวแพทย์ประสบความสำเร็จในการรักษา เช่น โรคไต โรคผิวหนัง ในด้านโรคมะเร็งนั้น การใช้โภชนบำบัดมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขภาวะอ่อนแอ ฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัด และลดภาวะผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด สภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสัตว์ป่วยเป็นมะเร็งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะเริ่มต้น  สภาพทั่วไปภายนอกเหมือนปกติ  สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการตรวจสุขภาพ การตรวจเลือด เคมีเลือด ตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์   เช่น การพบระดับของแคลเซี่ยมสูงผิดปกติในเลือด

2. ระยะที่ 2 สัตว์ป่วยเริ่มมีสภาพน้ำหนักตัวลด   อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

3.ระยะสุดท้ายสัตว์ป่วยจะมีสภาพทรุดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณโปรตีนในเลือดต่ำ เนื่องจากสัตว์สูญเสีย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันจากร่างกาย

ในต่างประเทศมีการศึกษาการให้อาหารไขมันสูงแก่สัตว์ป่วยดีกว่าการให้อาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะช่วยในการลดการเจริญของมะเร็งและการแพร่กระจายได้  นอกจากนี้ การให้อาหารเยื่อใยสูง จะช่วยในการย่อยอาหารทำให้ร่างกายสัตว์อยู่ในภาวะสมดุลย์ได้

     จากการที่พบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นมะเร็งจำนวนมากขึ้น ทางสัตวแพทย์มีแนวทางการรักษาอย่างไร สัตวแพทย์จะดำเนินการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจกรองโดยวิธีการตรวจทางเซลล์วิทยา การตรวจชิ้นเนื้อทางจุลพยาธิวิทยา  การตรวจทางพยาธิวิทยาคลินิก การตรวจทางรังสีวินิจฉัย การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์  โดยทำความเข้าใจและควรได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสัตว์เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เช่นทางศัลยกรรม ทางอายุรกรรม เคมีบำบัด การรักษาตามอาการ และฟื้นฟูสภาพ  และการพยากรณ์โรค การเฝ้าระวัง และติดตามผลการรักษา ปัญหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มาพบสัตวแพทย์ทุก 6 เดือนภายหลังการรักษา  ส่วนใหญ่สัตว์ป่วยโรคมะเร็งมักมาพบสัตวแพทย์เมื่ออยู่ในระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้ายการรักษาต้องประเมินสภาพสัตว์และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

     ข้อแนะนำในการป้องกันโรคมะเร็งในสัตว์ โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีสาเหตุมากมาย ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส และไม่ติดเชื้อ จากการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง หรือสารพิษต่างๆ หรือจากพันธุกรรมซึ่งมีผลทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง ยังไม่สามารถใช้วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งได้  สิ่งที่น่าจะเป็นสัญญาณในการเตือนของการเกิดโรคมักจะพบในสัตว์ที่มีอายุ เช่นในสุนัขและแมว ตั้งแต่  7  ปีขึ้นไป  ดังนั้นเจ้าของสัตว์ควร

     1. ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

     2. เมื่อสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ อ้วนขึ้นหรือผอมลงอย่างผิดสังเกตุ  ซึม เบื่ออาหาร เยื่อเมือกซีด  ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติ ควารรีบพาไปพบสัตวแพทย์

    3. กรณีที่พบก้อนผิดปกติบริเวณผิวหนัง หรือตามผิวหนัง ซึ่งท่านสามารถสังเกตุเห็นได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นก้อนขนาดเล็ก ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ไม่ควรรอให้ใหญ่ก่อนแล้วพาไปพบสัตวแพทย์

     ตรวจร่างกายสัตว์เลี้ยงของท่านเป็นประจำทุกปีห่างไกลโรคมะเร็ง