วช. บ่มเพาะอาจารย์อาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
วันนี้ (21 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น. ) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมบ่มเพาะอาจารย์ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมสายอาชีวศึกษาประจำปี 2563 เพื่อพัฒนาครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่ถูกต้อง และพัฒนาผลงานให้มีศักยภาพตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ให้ได้รับการส่งเสริม พัฒนาต่อยอดไปสู่การเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์ และสามารถพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีศักยภาพในการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ได้ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา
โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินการเร่งรัดพัฒนาการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาให้เข้มแข็งบนพื้นฐานสติปัญญา ความรู้ ฐานเทคโนโลยี และคุณธรรม จริยธรรม พร้อมทั้งกระตุ้นและส่งเสริมนักวิจัย
สายอาชีวศึกษาให้มีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนบูรณาการการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2563
กิจกรรมบ่มเพาะอาจารย์ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมสายอาชีวศึกษาประจำปี 2563 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21–23 กันยายน 2563 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา”
ในวันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น. การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยการบ่มเพาะใน 5 ด้าน ได้แก่
ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมบ่มเพาะอาจารย์ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมสายอาชีวศึกษานี้ เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนถือได้ว่าเป็นผู้จัดการโครงการและถ่ายทอดกระบวนการสร้างและพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ และการพัฒนาผลงานให้มีศักยภาพตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
#NRCT #วช. #อว. #MHESI #บ่มเพาะอาจารย์ผู้จัดการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา2563 #สอศ.