วช.ผนึก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หนุนงานวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร ใช้ประโยชน์ได้จริง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม
ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
การลงนามข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสองหน่วยงานที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ดั้งเดิม ตลอดจนการได้มาซึ่งผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานและตอบสนองต่อความต้องการระดับนโยบายซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ โดยร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยของประเทศในภาพรวม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของประเทศ โดยใช้ประสบการณ์ของ วช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยของประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่าในฐานะที่ วช. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงฯ มี 3 พันธกิจหลัก คือ 1) สร้างและพัฒนา “คน” ให้เป็น Smart Citizen 2) สร้างและพัฒนา “นวัตกรรม” ไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม และ 3) สร้างและพัฒนา “องค์ความรู้” ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า โดย วช. มีแนวทางการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ และมีการกำหนดเป้าหมายของการวิจัยทั้งแบบ Top-down และ Bottom-up ประกอบด้วยชุดโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มโครงการวิจัยมุ่งเป้า และโครงการย่อย ฯลฯ เมื่อกล่าวถึงความเชื่อมโยงกระบวนงานตามภารกิจ วช. จะเชื่อมโยงใน 2 ส่วน คือ 1) เชื่อมโยงกับกลไกการให้ทุน ได้แก่ ทุนวิจัยในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์, ทุนวิจัยเฉพาะทางเพื่อความเป็นเลิศเชิงวิชาการที่สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์, ทุนวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ อุตสาหกรรม ท้องถิ่น, บูรณาการแผนงาน โครงการวิจัยกับการส่งเสริมการวิจัยเพื่อฐานวิชาการและสร้างเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม 2) เชื่อมโยงกับกลไกการสร้างแรงจูงใจ ได้แก่ การให้รางวัลและประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูและเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจนและเชื่อมกับฐานข้อมูล ส่งผลให้เกิดเชื่อมโยงทุกระดับ และจากความร่วมมือในวันนี้ วช. และกรมการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก จะเริ่มต้นจากการดำเนินการ “โครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม” ตามแผนการพัฒนาและสนับสนุนเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน เพื่อเป็นการสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่อยู่ภายใต้ทุนต่าง ๆ ดังนี้ 1) ทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษา 2) ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (ทุน พวอ.) 3) ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (ทุน คปก.)
ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติให้ดำเนินการวิจัยจากหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการวิจัยจากแหล่งงบประมาณภาครัฐ โดยจำแนกตาม วิธีการนำเสนอ ได้แก่ บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐาน เช่น โครงการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งและกลไกในระดับโมเลกุลของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ (Journal of Ethnopharmacology) ดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น, การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยา N040 ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น บทความที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุเจ้าเรือนกับระดับไขมันในเลือด: การสำรวจแบบภาคตัดขวาง , ผลของการใช้ยาประสะน้ำนมต่อปริมาณน้ำนมในมารดาหลังคลอด , ภูมิปัญญาการดูแลรักษาผู้มีภาวะมีบุตรยากของหมอพื้นบ้านในจังหวัดชุมพร และบทความที่ผ่านนำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับชาติ และบทความที่อยู่ระหว่างการเผยแพร่/นำเสนออีกหลากหลายบทความ เช่น โครงการ First line drug (ฟ้าทะลายโจร ไพล ขมิ้นชัน; โครงการวิจัยการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของครีมไพลในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเปรียบเทียบกับยาเจลไดโคลฟีแนก) โดยดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสร้างนักวิจัยที่มีประสิทธิภาพ โดยมีโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อภารกิจและยุทธศาสตร์และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากร รวมถึงการยกระดับคุณภาพกำลังคนและพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรในภาครัฐที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง