ADS


Breaking News

ศ.ดร.เอนก รมว.อว. ลุยลงพื้นที่เยี่ยมชมความพร้อมในการดูแลผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ณ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตรวจเยี่ยมสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
     รมว.อว. เดินทางถึงสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นำเยี่ยมชม
     - ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้เข้าข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อโรคโควิด-19
     - หอผู้ป่วยแบบพิเศษ
     - ห้องความดันลบ
     - หอผู้ป่วยวิกฤติ
     - ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19
     จากนั้น รมว.อว. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กล่าวถืง บทบาทความพร้อมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะแพทยศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย ในการรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 และการป้องกันควบคุมการระบาดในอนาคต


ดร.เอนก รัฐมนตรีอุดมศึกษาฯ 
ลุยลงพื้นที่เยี่ยมชมความพร้อมในการดูแลผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 
ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
      วันนี้ (20 สิงหาคม 2563) เวลา 16.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง อว. เดินทางเข้าลงพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นำเยี่ยมชม
        ภายหลังการตรวจเยี่ยม รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มพบว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย โดย อว.นอกจากจะต้องดูแลในทุกเรื่องของมหาวิทยาลัย การวิจัยและวิชาการของประเทศแล้ว ยังมีคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ในสังกัด อว. อีกมากกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นโรงพยาบาลหลักของประเทศ เป็นโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่และทันสมัย เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอื่นๆ ซึ่งอาจารย์แพทย์และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ของ อว. ได้สนับสนุนการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่เชื่อมโยงกับกลไกของกระทรวงสาธารณสุขและภาพรวมของประเทศอย่างใกล้ชิดมาก

รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม 
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       รมว.อว. กล่าวเสริมว่า กระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ที่เป็นหนึ่งในกำลังหลักของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ของประเทศ  โดย อว.ได้บริหารจัดการงานวิจัยเพื่อให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ได้จริง และทันต่อการแก้ไขปัญหา พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการวิจัยเชิงรุก และส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นผลงานของคนไทยสำหรับทดแทนเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยชนิดต่างๆ ที่ทันสมัย การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้เป็นลำดับแรกๆ ของโลก รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลวิชาการให้กับกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการกำหนดมาตรการในการดูแลและบริหารสถานการณ์ในประเทศให้สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่ผ่านมา

คุณธฤต สำราญเวทย์ 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ

กระทรวง อว. มีคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ในสังกัดของ อว. อยู่ทั่วประเทศ มีอาจารย์แพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์สูง จึงมีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งในด้านกำลังคน แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และเป็นกลไกสำคัญในการรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งได้ทำงานอย่างหนักร่วมกับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อและอื่นๆ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล 
เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 
ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 

     “ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงเห็นว่าการดำเนินงานของ อว. ต่อการรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทำงานหนักมากและทำอย่างเป็นระบบ ทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นอีก เพราะเรื่องโควิดจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องอยู่กับเราอีกนาน"
       "เช่นเมื่อวานนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พบว่ามีผู้ที่เข้ามาตรวจร่างกาย 2 รายตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด ซึ่งได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยทำงานกันอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยและต้องสอบสวนโรคนั้น หนึ่งรายมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นซากเชื้อโควิด-19  ส่วนอีกรายนั้นกำลังอยู่ระหว่างการตรวจยืนยัน ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ก็จะให้ข้อมูลต่อไปโดยเร็ว  ทั้งสองรายนี้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้นำมากักตัว สังเกตอาการและติดตามผู้สัมผัสเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์แห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง อว. ที่ได้รองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ผมเพิ่งได้เข้าเยี่ยมผู้สงสัยว่าติดเชื้อทั้งสองรายนี้ ซึ่งก็สบายดี ไม่มีอาการอะไร จะเชื่อมั่นความสามารถของแพทย์และพยาบาลไทย ซึ่งในขณะนี้เราได้ดูแลผู้ที่ติดเชื้อจนหายป่วยแล้วมากกว่า 3000 คน แต่เพื่อความมั่นใจของทั้งสองรายนี้และของประชาชนทั่วไป เราก็จะดูแลเรื่องนี้อย่างละเอียด นอกจากนี้ผมยังได้เยี่ยมชมโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของศูนย์การแพทย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และรู้สึกประทับใจมากที่ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในทุกด้าน มาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย  ขอให้ความมั่นใจว่าเรามีความพร้อมที่จะดูแลและบริหารจัดการสถานการณ์หากจะมีการระบาดในระยะต่อไป” รมว.อว. กล่าว "เราหวังว่าจะไม่มีการระบาดเพราะมีกลไกในการตรวจค้นและดูแลเป็นอย่างดี แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราก็พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์นั้นได้อย่างเต็มที่"