ADS


Breaking News

วช. และ VISTEC ลงนามความร่วมมือหนุนทุนนิสิตปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และ Frontier Talents Program (FTP)

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง
ความร่วมมือสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
และโครงการ Frontier Talents Program (FTP)
ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล
อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี
กล่าวความเป็นมาของโครการ และบทบาทของสถาบันวิทยสิริมรีในการสนับสนุนทุนโครงการ Frontier Talents Program (FTP)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล 
เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 
กล่าวแสดงความยินดี และบทบาทและความเป็นมาของทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร 
นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี 
กล่าวแสดงความยินดี

     วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องพลังไทย ชั้น M อาคาร 2 สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และ โครงการ Frontier Talents Program (FTP) ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ด้วยเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำองค์ความรู้ขั้นสูงต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นแนวหน้า รวมถึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคคลากรวิจัยที่มีคุณภาพทัดเทียมระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป โดยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสักขีพยานผู้ทรงเกียรติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามฝ่ายสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นผู้ลงนามฝ่ายสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
     บุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูง ที่มีผลงานวิจัยคุณภาพในระดับสากล เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ชาติไทยในโลกยุค 4.0 ซึ่งนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ด้าน โดยที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เปลี่ยนจากประเทศผู้ใช้มาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ปตท. ที่ได้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยมุ่งหวังให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการสนับสนุนด้านงบประมาณ สถานที่ เครื่องมือวิจัย และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยครบครัน รวมถึงการคัดสรรคณาจารย์ที่มีศักยภาพสูง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาบุคคลากรที่สำคัญแก่นิสิต นักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกเพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และปัจจุบันได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 22 แล้ว
     สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย VISTEC จะสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการ Frontier Talents Program (FTP) โดยเริ่มต้นจากผู้ได้รับทุน คปก. รุ่นที่ 22 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สำคัญคือ
     1. เพื่อสร้างนิสิตปริญญาเอกที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทัดเทียมในระดับนานาชาติมีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง ที่อยู่ในฐานข้อมูล Nature Index, ISI หรือ SCOPUS ในอันดับสูงสุดร้อยละ 10 (Tier 1)
     2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำแนวคิดและความรู้ขั้นสูงไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าตอบโจทย์อุตสาหกรรม สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายพัฒนางานวิจัยในสาขาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ได้แก่ สาขา Advanced Functional Materials, Energy, Biotechnologies และ Digital Technologies
     3. เพื่อการใช้ทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้าง และพัฒนากำลังคนหรือนักวิจัยให้มีคุณภาพสูง และการผลิตงานวิจัยชั้นแนวหน้า
     4. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ
     5. เพื่อส่งเสริมบุคลากรวิจัยให้มีความมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า
     6. เพื่อสนับสนุนทุนเพิ่มเติมให้กับนิสิต โดยเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการศึกษา
     สำหรับสิทธิในผลงานวิจัยเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจากการนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทุน คปก. ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจากการนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทุนโครงการ Frontier Talents Program (FTP) ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามสัดส่วนการสนับสนุนทุนหรือตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน