กรณีการกล่าวหาว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เห็นว่าสำหรับเรื่องกรณี คลิปที่มีการกล่าวหาว่ามีการทารุณกรรมลิงในการเก็บมะพร้าวนั้น ขออนุญาตตอบเป็นความคิดเห็นส่วนตัว เพราะเร็วๆ นี้สมาคมฯ ซึ่งจะมีการออกแถลงการณ์จุดยืนเรื่องนี้ต่อไป
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า
1.ควรมีการสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวอ้างก่อน ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร เพราะในอดีตมีหลายกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อพิสูจน์แล้วอาจจะไม่เป็นจริงตามที่ปรากฎก็ได้ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.การทารุณกรรมสัตว์นั้นมีทุกประเทศทั่วโลก และทุกวงการที่มีการใช้สัตว์ไม่มากก็น้อย แต่จุดยืนส่วนตัวคือต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรกับสัตว์ทุกชนิด และไม่สนับสนุนการจับสัตว์ป่า พรากออกมาจากธรรมชาติ แต่ไม่ต่อต้านการใช้สัตว์ ไม่ว่า เพื่อเป็นอาหาร เพื่อการกสิกรรม เพื่อการท่องเที่ยว แต่สัตว์เหล่านั้นต้องได้รับการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด ซึ่งกรณีดังกล่าวถ้าพบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็ควรมีการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ถ้าพบว่าโดยทั่วไปแล้ว การใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นไม่มีการทารุณกรรม อย่างที่มีการเผยแพร่ในขณะนี้ ก็ควรจะได้มีการแถลงการณ์ เรียกความมั่นใจและให้เป็นที่ยอมรับจากชาวโลกต่อไป
3. ควรนำกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้ แทนการออกกฎหมายใหม่ เพราะถ้ามีการกล่าวหา ร้องเรียนทุกครั้งและต้องออกกฎหมายใหม่กันทุกเรื่อง ทุกกรณีบ้านเมืองจะเต็มไปด้วยกฎหมาย สุดท้ายที่จะปฏิบัติไม่ได้ เพราะขัดหรือแย้งกันเอง เพราะในขณะนี้มีกฎหมายแล้ว จึงควรมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีเจ้าของผู้ครอบครองลิงกัง ถ้าไม่ไปขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาต ก็จะมีความผิด เพราะลิงกังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่กฎหมายอนุญาตให้สามารถเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ถ้าไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดตามมาตรา 92 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบัน พบว่ามีลิงที่ขออนุญาตครอบครองและขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดประมาณ 1,400 ตัว และมีการขออนุญาตเพาะพันธุ์ลิงไว้ จำนวน 2 ราย เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ รูปแบบการเลี้ยงเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน เลี้ยงกันในครอบครัว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมะพร้าว
และตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เช่น การกำหนดให้เจ้าของที่เลี้ยงดูแลลิง ถ้ามีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ทำให้ลิงได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผล ทำให้ลิงในตายได้ และการใช้ลิงที่พิการ ลิงเจ็บป่วย ลิงชราหรือลิงที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้ลิงทำงาน อันไม่สมควรเพราะเหตุที่ลิงนั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ เจ้าของลิงมีความผิด ต้องระวางโทษ ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และ 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองลิงต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพให้ลิงของตนอย่างเหมาะสม เช่น การจัดให้ลิงได้รับน้ำอาหารที่มีปริมาณที่เหมาะสมและมีคุณภาพ การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเหมาะสมแก่การดำเนินชีวิต การจัดการป้องกันโรคที่เหมาะสมและจัดรักษาเมื่อสัตว์เจ็บป่วยโดยไม่ชักช้า จัดไม่ให้สัตว์ไม่ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บป่วยทุกข์ทรมาน และสัตว์ได้มีโอกาสแสดงพฤติกรรรมตามธรรมชาติที่เหมาะสม ถ้าไม่ดำเนินการก็มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท ตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 32 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561
กรณีการเคลื่อนย้ายลิงจากสถานที่ต้นทางไปยังสถานที่ปลายทางเพื่อนำไปใช้งาน เจ้าของต้องมีการจัดสวัสดิภาพให้ดี ด้วย เช่น ต้องมีการวางแผนเส้นทางที่เหมาะสม สัตว์ต้องอยู่ในสภาพพร้อมเดินทาง พาหนะขนส่งต้องมีความเหมาะสมกับชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของลิง มีความปลอดภัย ปราศจากวัสดุแหลมคมที่อาจก่ออันตราย ทำให้สัตว์นั้นเกิดความหวาดกลัว บาดเจ็บทุกข์ทรมาน รวมทั้งจัดอาหารและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามความจำเป็น ถ้าไม่ดำเนินการก็จะมีโทษปรับ สูงสุด 40,000 บาท ตามมาตรา 24 ประกอบมาตรา 32 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขนส่งสัตว์หรือนำสัตว์มาใช้ในการแสดง พ.ศ.2562
4. นอกจากการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีที่กระทำผิดกฎหมายแล้ว ควรมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องลิงขึ้นมะพร้าวที่สืบสอดกันมา มาปรับให้สอดประสาน ให้สอดรับกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในปัจจุบันแบบสากล ซึ่งจะเป็นการสร้างดุลภาพที่เหมาะสมกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
ดังนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีหลักฎหมายที่เป็นสากลอยู่แล้ว การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันก่อน และการกระทำความผิด ก็เป็นเรื่องกรณีเฉพาะบุคคล ซึ่งถ้าเจ้าของลิงกระทำความผิด ก็ต้องรับผิดเฉพาะคน เฉพาะเรื่องนั้น ไม่ใช่เหมารวมว่าเจ้าของลิงทุกคนเป็นผู้กระทำผิด และให้ผลกระทบไปตกกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างนี้เป็นเรื่องไม่เป็นการสมควร ฉะนั้นเรื่องดังกล่าวควรมีการแต่งตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบหรือการศึกษาข้อเท็จจริงย้อนกลับไปถึงที่มาและเจตนาของกรณีนี้ด้วย ซึ่งสังคมอาจคาดเดาไม่ยาก ว่า “ใครเป็นคนเสนอปิดประเด็น อาจเป็นผู้เริ่มเปิดประเด็นก็เป็นได้”