กรมอุทยานแห่งชาติฯ คว้ารางวัลมาตรฐานท่องเที่ยวไทย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
(23 ก.ค.63) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คว้ารางวัลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักรับรองระบบคุณภาพ แสดงศักยภาพการตรวจประเมินรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวไทย ตามเกณฑ์ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาลงพื้นที่ตรวจประเมินแหล่งท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 13 หน่วยงาน ผ่านการตรวจประเมินและมอบใบรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวไทย มาตรฐานคุณภาพกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว หวังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว ใช้สถานประกอบการที่มีมาตรฐาน ยกระดับการให้บริการของแหล่งท่องเที่ยวสู่ระดับสากล อีกทั้งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ มี 12 อุทยานแห่งชาติ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และมีนายคมกริช เศรษบุบผา ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทการ สำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่ได้รับรางวัล เป็นผู้แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมรับรางวัลต่างๆณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานีคลองห้า จังหวัดปทุมธานี
สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งผู้ตรวจประเมินจะตรวจการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1. ความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว มุ่งเน้นศักยภาพที่ส่งผลถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงกระบวนการและกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากศักยภาพทางกายภาพ และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและความปลอดภัย ความหลากหลายและต่อเนื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้รวมถึงศักยภาพการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ความเหมาะสมด้านที่ตั้งที่เกี่ยวข้องและการจัดการความปลอดภัย 2. การอนุรักษ์ทรัพยากร มุ่งเน้นการจัดการด้านการอนุรักษ์และคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวขึ้นกับมาตรฐานแต่ละประเภท ได้แก่ ความเป็นเอกลักษณ์ ความสมบูรณ์ สวยงาม ความมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ ความผูกพันต่อท้องถิ่น รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว การรักษาสภาพและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การใช้ประโยชน์พื้นที่ ติดตามการเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยว การจัดการสิ่งแวดล้อม 3. การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ความเหมาะสมด้านที่ตั้ง ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวจากปัจจัยภายนอก ความเหมาะสมของสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการด้านบริการและสาธารณูปโภค การบริหารจัดการด้านกิจกรรมการท่องเที่ยว การบริหารจัดการให้ความรู้และการสร้างจิตสำนึก ชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้ การให้ความรู้ และบริการข้อมูล การจัดการด้านเศรษฐกิจและสังคม
1. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ มาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทเกาะ (ระดับดีเยี่ยม)
2. อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก (ระดับดีเยี่ยม)
3. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาด (ระดับดีเยี่ยม)
4. อุทยานแห่งชาติแม่วาง จ.เชียงใหม่ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐาน (ระดับดีเยี่ยม)
5. อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐาน (ระดับดีเยี่ยม)
6. อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก (ระดับดีเยี่ยม)
7. อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก (ระดับดีเยี่ยม)
8. อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ (ระดับดีเยี่ยม)
9. อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก (ระดับดีเยี่ยม)
10. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก (ระดับดีมาก)
11. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ระดับดีเยี่ยม : ยอดดอยอินทนนท์ และ ระดับดีมาก : เส้นทางอ่างกา)
12. อุทยานแห่งชาติแม่จริม จ.น่าน คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ระดับปานกลาง)
13. อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเภทน้ำพุร้อนธรรมชาติ (ระดับดีเยี่ยม)
14. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทน้ำตก (ระดับดีเยี่ยม)
15. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ระดับดี)
16. สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง กิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทที่มีการแสดง (ระดับดีเยี่ยม)
ทั้งนี้ สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจสอบมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยกับ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้ยื่นขอรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 ในฐานะหน่วยรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวไทย จากสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยตรวจประเมินและให้การรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวไทย มาตรฐานคุณภาพกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว และมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยในเกณฑ์มาตรฐานได้ผ่านกระบวนการจัดทำตามหลักเกณฑ์และกรอบแนวคิดด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากกรมการท่องเที่ยว โดย วว. มีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก้าวไปสู่การยกระดับคุณภาพของสถานประกอบการให้มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย