สรท. คงเป้าส่งออก -8% วอนรัฐรักษาปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน นางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 10.30-12.00 น. ระบุการส่งออกเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 613,979 ขยายตัว 5.32% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -17.13 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 541,019 ล้านบาท หดตัว -14.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนเมษายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 72,960 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนเมษายนการส่งออกจึงหดตัวร้อยละ -7.53) ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- เม.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 2,517,136 ล้านบาท หดตัว -1.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 2,349,710 ล้านบาท หดตัว -8.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 167,426 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – เม.ย. การส่งออกหดตัวร้อยละ -0.96)
การส่งออกในเดือนเมษายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปร อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด แผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 = 31.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.8 – 32.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1) การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารที่มีภาพรวมการขยายตัวได้ดี ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในช่วงมาตรการ lockdown ในหลายประเทศ อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง 2) การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภายในประเทศ ทำให้ระบบการผลิต ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ ส่งผลให้การส่งออกสินค้า ขยายตัวในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็น และ 3) การส่งออกทองคำเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยดึงตัวเลขภาคการส่งออกให้มีการขยายตัวในช่วงสถานการณ์ความไม่นอนของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับผลจากกระบวนการดำเนินงานด้านเอกสารที่ล่าช้าเนื่องด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลงในช่วง work from home 2) ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น ตลอดเดือนพฤษภาคม 2563 อันเนื่องมาจากของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe heaven อีกครั้ง กอปรกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ กลายเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา 3) ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงหนุนจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และ 4) ความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จากการที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้
อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ 2) เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่ Digital disruption ของภาครัฐ 3) สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึง เร่งผลักดันการเจรจา FTA อื่นๆ อาทิ RCEP Thai-EU เป็นต้น 4) พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN and CLMV (CLMV is our home market) เนื่องจากเป็นตลาดที่ใกล้ชิด และสามารถขนส่งข้ามแดนได้โดยง่าย และสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างตลาดเป็นหนึ่งเดียว (Single market) และพัฒนาแผนการขนส่งข้ามแดนที่สามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง 5) ขอให้ภาครัฐพิจารณาส่งเสริมรายอุตสาหกรรมที่มี Potential ที่เกี่ยวเนื่องในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก อาทิ สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ในกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 6) เสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิจารณาปลดล็อคธุรกิจทั้งทางด้านการค้าและบริการ ในภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติมภายใต้การติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวมากขึ้น
อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาข้อมูลวิจัย และหารือร่วมกับสมาคมการค้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ต่อประเด็นการเข้าร่วมเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) และเห็นว่า “ประเทศไทยควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และไม่สามารถเจรจาแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ” โดยมี ข้อเสนอแนะและเงื่อนไขการเจรจาที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดและเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่ยังมีข้อกังวล อาทิ 1.1) การเสียผลประโยชน์ของเกษตรกรจาก UPOV 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย 1.2) ความชัดเจนในการควบคุมผลผลิตและพืช GMO 1.3) ประเด็นด้านเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ตามอนุสัญญา ILO มาตรา 87 และ 98 1.4) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1.5) เงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้า Remanufactured 1.6) การกำกับดูแลการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า 1.7) ความชัดเจนเกี่ยวกับ Waiver of Customs Duty 1.8) มาตรการรองรับการเปิดเสรีภาคบริการสาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง และ 1.9) การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาด เป็นต้น 2) สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขรายกลุ่มสินค้า ต้องไม่ต่ำหรือได้ประโยชน์น้อยกว่ากรอบเจรจาอื่นซึ่งไทยลงนามแล้ว 3) ควรเจรจาในลักษณะทวิภาคี (Bilateral Agreement) กับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ควบคู่กัน เพื่อให้มีความคืบหน้ากรณีไม่สามารถหาข้อสรุปในเวที CPTPP 4) ยกระดับความสามารถภายในประเทศ อาทิ 4.1) เร่งแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่ล้าหลังให้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่เป็นสากล 4.2) เร่งยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตามแนวทางของ Trade Facilitation Agreement ภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO’s TFA) 4.3) ยกระดับมาตรฐานการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ของประเทศ ตั้งแต่ระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงระดับอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าในอนาคต และป้องกันการตีตลาดจากผู้ประกอบการต่างชาติที่ด้อยคุณภาพ และ 4.4) จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถทดแทนการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับผลกระทบจากอนุสัญญา ILO.