ADS


Breaking News

ใหม่ หลักสูตรมหิดลร่วม 7 ปี ควบ 2 ปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต(นานาชาติ)

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จับมือ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดหลักสูตรร่วม 7 ปี ควบ 2 ปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต(นานาชาติ)
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุม 910AB ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าว เปิดหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต - การจัดการมหาบัณฑิตและ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวและลงนามในบันทึกความร่วมมือ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์
คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มาของโครงการ
ในปัจจุบันโลกได้เผชิญกับภาวะผันแปรจากโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้การรักษาพยาบาลและการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่ามีคุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็มีการใช้งบประมาณและทรัพยากรของประเทศอย่างมหาศาลและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืนได้ เราจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืองบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีโรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาลจัดการฝึกอบรมผู้บริหารองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี จึงได้ผนึกกำลังกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการชั้นนำของประเทศ เป็นหนึ่งในสี่สถาบันการศึกษาของประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐาน AACSB ในระดับนานาชาติ จัดทำหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” นี้ขึ้นโดยมุ่งหวังผลิตแพทย์นักบริหารที่มีภาวะผู้นำและมีความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการในระดับสากล ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะของสังคมไทยได้ กล่าวคือบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษานอกจากจะมีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพในฐานะแพทย์อย่างเต็มที่แล้ว ยังจะมีสมรรถนะและทักษะทางด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย
การผนึกสองหลักสูตร
นักศึกษาในโครงการจะได้เรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 6 ปีเต็ม และเพิ่มการเรียนในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) อีก 1 ปี รวมเวลาศึกษา 7 ปี โดยจะมีการบูรณาการของ 2 หลักสูตร ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด และเปิดโอกาสให้มีการวิจัยสร้างองค์ความรู้มุ่งไปสู่การพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเป็นสำคัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine, M.D.) และการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) (กจ.ม.) (Master of Management, M.M. - Healthcare And Wellness Management)
คุณสมบัติของผู้สมัคร
โครงการร่วม 2 ปริญญา “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” นี้จะเริ่มรับนักศึกษาสำหรับเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2564 โดยเปิดรับนักศึกษาปีละ 20 คน ผ่านการรับตรงระบบ TCAS รอบ Portfolio (TCAS I) ของ ทปอ. โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้

  • ผลการศึกษามีคะแนนสะสมเฉลี่ย > 3.50
  • ผลคะแนนการสอบ Biomedical Admission Test (BMAT) > 12.0
  • ผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (IBT) > 8.0 หรือ IELTS (Academic modules) > 6.5

ประโยชน์ที่ได้รับ
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตแพทย์มีเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย อาจจะเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางที่มีทักษะและสมรรถนะของการบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำที่สามารถเรียนรู้ต่อยอด นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำพาทีมงาน หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


หลักสูตร M.D./M.M.
(หลักสูตรการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม Healthcare and Wellness Management)
หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
หลักสูตรในภาพรวม
  • จากแนวโน้มการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขภาวะประกอบกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย การมีผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการด้านบริการการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น  
  • จุดเด่นของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Medical hub and wellness tourism ที่มีศักยภาพระดับโลก องค์กรสุขภาพต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องปรับตัวให้สามารถบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดความต้องการแพทย์ที่มีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่มากยิ่งขึ้น 
  • ความร่วมมือระหว่างรามาธิบดีและวิทยาลัยการจัดการในการพัฒนาหลักสูตร M.D./M.M. เพื่อพัฒนาโครงการมุ่งผลิตแพทย์นักบริหารที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะของสังคมให้กับประเทศ 


สิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียนในหลักสูตร 
  • สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแพทย์นักบริหารที่ดี เช่น  ภาวะผู้นำ การตัดสินใจและการแก้ปัญหาการบริหารการเปลี่ยนแปลง การวางแผน การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการจัดการที่สำคัญเช่น การจัดการในโรงพยาบาล การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การจัดการทางการเงิน การตลาด 
  • เป็นหลักสูตรนานาชาติที่จะเปิดโลกทัศน์ให้เห็นระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ นโยบายสาธารณสุขต่างประเทศ 
  • เนื้อหาในหลักสูตรถูกออกแบบสำหรับแพทย์ที่มีความสนใจในการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาแพทย์นักบริหารที่มีความสามารถในการจัดการในโลกยุคดิสรัปชั่น ตลอดจนรับมือกับปัญหาในองค์กรและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 
    หลักสูตรมุ่งสร้างสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแพทย์นักบริหารที่ดีจะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 
  1. Healthcare System & Policy เพื่อสร้างความเข้าใจแนวคิดของระบบบริการสุขภาพและนโยบายสาธารณสุข เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมสุขภาพ นโยบายสาธารณสุข โมเดลของการดูแลสุขภาพ ระบบการบริการสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระบบการจ่ายเงิน ผ่านรายวิชา Principles & Concepts of Health Systems and Health Policy ประกอบกับ การเข้าใจเทรนด์แนวโน้มที่สำคัญของสุขภาพและเวลเนสผ่านรายวิชา Emerging Healthcare & Wellness Business Management 
  2. Leadership & Management มีวิชาสำคัญอย่าง Leading and Managing Healthcare Organizations เกี่ยวกับภาวะผู้นำและการจัดการองค์กรสุขภาพ การบริหารจัดการกับบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายวิชาชีพในองค์กรสุขภาพ สร้างความเข้าใจธรรมชาติขององค์กรทางสุขภาพ การบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐและเอกชน


นอกจากนี้ในการเป็นผู้บริหารที่ดี หลักสูตรเพิ่มขีดความสามารถในการวางกลยุทธ์เพื่อทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน  ผ่านวิชาการตลาด การจัดการทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ การจัดการทรัพยากรบุคคล ตลอดจนออกแบบสร้างประสบการณ์บริการที่ดีให้กับผู้รับบริการได้ การจัดการข้อมูลและเทคโนโลยียุคใหม่ 


  1. 21st century skills ทักษะที่สำคัญแห่งโลกศตวรรษที่ 21 (soft skills) เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจและการแก้ปัญหา การบริหารการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารจูงใจ การเจรจาต่อรอง
จุดแข็งของหลักสูตร
    เป็นหลักสูตรแรกและเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่เน้นการพัฒนาแพทย์นักบริหาร (M.D.-M.M.) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นการนำจุดแข็งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์มาช้านาน ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการของวิทยาลัยการจัดการมหิดล เป็นหลักสูตรที่ได้รับมาตรฐานจาก AACSB (สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก) 
วิธีการเรียนรู้จะเป็น practical learning ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง กรณีศึกษาจริง เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ประจำที่มีความเชี่ยวชาญจากงานวิจัยและการให้คำปรึกษาในภาคอุตสาหกรรม และอาจารย์พิเศษ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ตรง การศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และสถานประกอบการด้าน Health & wellness 


ติดตามรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ทาง
     งานแพทยศาสตร์ศึกษา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
     วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล