ธ.ก.ส. ดึงแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลกจากไมโครซอฟท์ เร่งเยียวยาเกษตรกรทั่วไทย
ฝ่าวิกฤตโควิด-19
- เว็บไซต์ ‘เยียวยาเกษตรกร.com’ รองรับฐานข้อมูลเกษตรกรกว่า 10 ล้านชื่อจากทั่วประเทศบนคลาวด์ Azure ภายใต้การพัฒนาร่วมกับไมโครซอฟท์
- ชูคลาวด์เป็นกุญแจสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้กว่า 30 ล้านรายการใน 24 ชั่วโมงแรก
กรุงเทพฯ 24 มิถุนายน 2563 – ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผนึกกำลังกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พร้อมด้วยพันธมิตรอย่าง บลูบิค กรุ๊ป สนับสนุนการเยียวยาเกษตรกรไทยด้วยศักยภาพของแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลก พร้อมเน้นย้ำข้อได้เปรียบของการใช้นวัตกรรมอย่างเต็มประสิทธิภาพ เสริมความคล่องตัวในการพัฒนาระบบและประสานงานในทุกขั้นตอน
หลังจากที่การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในหลายภาคส่วน รวมไปถึงภาคการเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรรวมกว่า 10 ล้านรายในฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยทันทีที่ทางภาครัฐประกาศโครงการนี้ออกไป เกษตรกรจำนวนมากได้เดินทางไปติดต่อเปิดบัญชีและสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ที่สาขาของ ธ.ก.ส. เป็นจำนวนมากกว่าปกติถึง 10 เท่าตัว จากเดิมที่แต่ละสาขาจะสามารถรับรองลูกค้าได้สูงสุดราว 100 คนพร้อม ๆ กัน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า “เมื่อมีผู้เข้าไปติดต่อสอบถามและใช้บริการที่สาขาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากปริมาณผู้ใช้บริการที่มากขึ้นจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 ที่สูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับตัวเกษตรกรเองหรือพนักงานของธนาคาร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและเพิ่มระยะห่างทางสังคมเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พัฒนาและเปิดเว็บไซต์ 'www.เยียวยาเกษตรกร.com' เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าตรวจสอบสิทธิการรับเงินเยียวยา แจ้งช่องทางการโอนเงินและตรวจสอบสถานะ การรับเงินเยียวยาได้จากฐานข้อมูลของ ธ.ก.ส. โดยตรง ไม่จำเป็นต้องไปติดต่อผ่านสาขา อีกทั้งมีศักยภาพในการรองรับการเข้าใช้งานจากเกษตรกรทั่วประเทศพร้อม ๆ กันได้ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวได้เริ่มเปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา”
คลาวด์เท่านั้นที่ตอบโจทย์ กับภารกิจพัฒนาเว็บแบบเร่งด่วน ต่อยอดแผนงานด้านดิจิทัลของ ธ.ก.ส.
ด้วยโจทย์ของ ธ.ก.ส. ในการเร่งพัฒนาเว็บไซต์ที่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้จำนวนมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น โดยที่ยังสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทีมงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารจึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเพิ่ม-ลดขนาดของระบบตามปริมาณการใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะมาจบลงที่แพลตฟอร์มคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์ ซึ่งนอกจากจะมีสมรรถนะที่ตอบโจทย์ พร้อมรับมือการพัฒนาและเปิดบริการเว็บไซต์อย่างคล่องตัวและรวดเร็วแล้ว ยังผ่านการรับรองด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลโดยมาตรฐานและสถาบันต่าง ๆ กว่า 90 รายการ
ส่วนในขั้นตอนการพัฒนา ทีมงานของทั้ง ธ.ก.ส. และไมโครซอฟท์ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสามารถพัฒนาเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com จนเสร็จสิ้นและพร้อมเปิดใช้งานภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น โดยภายในวันแรกหลังเปิดให้บริการ เว็บไซต์ดังกล่าวสามารถรองรับการเข้าถึงและรับส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบของทางธนาคารได้รวมกว่า 30 ล้านรายการโดยไม่มีปัญหาในการเข้าใช้งานแต่อย่างใด
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความคล่องตัวเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดขององค์กรที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล และเราก็มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์แห่งนี้กับ ธ.ก.ส. ด้วยแพลตฟอร์มคลาวด์ที่แข็งแกร่งและเปี่ยมประสิทธิภาพ พร้อมด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก สำหรับภารกิจนี้ ทีมนักพัฒนาของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยยังได้ใช้แพลตฟอร์ม ไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) ในการประสานงานทั้งภายในทีมไมโครซอฟท์ทั่วโลกและกับทีมงานของ ธ.ก.ส. ต่อเนื่องตลอดทั้ง 48 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย แม้จะไม่ได้พบหน้ากัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ขณะที่ทีมงานของทั้งสองฝ่ายต้องร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายร่วมกัน เพราะเราทราบดีว่าภารกิจของเราใน 48 ชั่วโมงนี้มีความสำคัญมากขนาดไหนสำหรับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ”
ทีมวิศวกรคลาวด์ของไมโครซอฟท์และผู้เชี่ยวชาญจากบลูบิค ได้ทำงานร่วมกับทีมนักพัฒนาแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส. เพื่อออกแบบระบบเบื้องหลังเว็บไซต์โดยละเอียด โดยเลือกใช้เทคโนโลยีบนแพลตฟอร์ม Azure ที่เหมาะสมมาใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันโดยมุ่งให้ตอบโจทย์มากที่สุด ทั้งในด้านความรวดเร็วของการใช้งาน และความสามารถรองรับโหลดจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันสั้น
“เรายังได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้กับเว็บไซต์ ด้วยการออกแบบระบบประมวลผลจากศูนย์ข้อมูล Azure มากกว่าหนึ่งแห่งในเวลาเดียวกัน ทำให้ระบบมีความเสถียรและยืดหยุ่นสูง โดยเราได้รับการสนับสนุนจากทีมวิศวกรคลาวด์จากสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ในสหรัฐอเมริกาโดยตรง ตลอดช่วงเวลา 48 ชั่วโมงทั้งก่อนและหลังการเปิดให้บริการเว็บไซต์ เพื่อให้ความมั่นใจกับทุกคนว่าโครงการสำคัญนี้จะเปิดให้บริการได้ทันเวลา และรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ในทันที” นายสรุจ ทิพเสนา Solution Specialist Manager บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผย
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวอีกว่า “บริษัทบลูบิค กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมความสำเร็จในโครงการพัฒนาเว็บไซต์ 'เยียวยาเกษตรกร.com' เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยบริษัทฯได้เข้าไปให้คำปรึกษาในการนำระบบขึ้นแพลตฟอร์มคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงานจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทยในการวางแผนและทบทวนความเสี่ยงในการออกแบบสถาปัตยกรรมไอที (IT Architecture) ของระบบ รวมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน เพื่อให้ ธ.ก.ส. มั่นใจได้ว่าระบบการลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรครั้งนี้จะสามารถรองรับการทำรายการปริมาณมหาศาลได้โดยไม่มีปัญหาขัดข้อง”
ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดิจิทัล เปิดประตูสู่นวัตกรรมทางการเงินให้เกษตรกรไทย
ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้เปิดตัวบริการทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนบนแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile หรือ BAAC A-Mobile ที่ให้เกษตรกรและลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน ทั้งยังรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code เพิ่มช่องทางการให้บริการของธนาคารรองรับความต้องการของลูกค้า เพื่อเปลี่ยนระบบธุรกรรมเงินสด (Cash society) ไปสู่ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic society) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของทางธนาคารในด้านการพัฒนาการบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย และนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com นับเป็นความสำเร็จที่แสดงถึงความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 10 ล้านคน และยังเป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ทันสมัย มีมาตรฐานระดับสากล โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการข้อมูล พร้อมทั้งประยุกต์และบูรณาการให้สอดคล้องกับเกษตรกรทั่วไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัย มั่นใจ สะดวก และเหมาะสมเป็นสำคัญ เพื่อรองรับวิสัยทัศน์ของเราในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน”
นายธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และเปลี่ยนเป้าหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น ซึ่งในหลายกรณีก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ความสำเร็จในการทำงานจึงไม่ได้มาจากการยืนหนึ่งอีกต่อไป สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้นำศักยภาพของคลาวด์ Azure ทั้งในด้านสมรรถนะการประมวลผลและความยืดหยุ่น มาสนับสนุนร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนับล้าน ๆ คนได้ในยามคับขัน สานต่อวิสัยทัศน์ของธนาคารในการพลิกรูปแบบและยกระดับการให้บริการ ผ่านนวัตกรรมดิจิทัลที่สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักของ ธ.ก.ส. ได้อย่างลงตัว”
###
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT” @Microsoft) ผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคโมบายและคลาวด์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกให้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 มีความมุ่งมั่นในการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทย 70 ล้านคน ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ไมโครซอฟท์ ส่งเสริมให้คนไทยและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงศักยภาพที่มีอย่างเต็มเปี่ยมผ่านการใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ในการทำงาน การใช้ชีวิต และการสื่อสาร ไมโครซอฟท์ให้บริการซอฟต์แวร์ บริการ และดีไวซ์ ที่สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ มีความสะดวกทันสมัย และช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไมโครซอฟท์ ไม่หยุดนิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตร อย่างต่อเนื่องในการนำพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสารประเทศไทย (http://news.microsoft.com/th-th/) และทวิตเตอร์ @MicrosoftTH