ADS


Breaking News

จุรินทร์ เผยผล “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” เร่งด่วน ปีการผลิต 2563/64 ต่อเนื่อง

ติดตามผล “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” โดย
“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”
1 ปีผ่านไป ช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้แค่ไหน
ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องเกษตรกรรมมาตั้งนานแล้ว ด้วยข้อได้เปรียบด้านสภาพแวดล้อมที่อยู่ในมือ ทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่า คุณภาพผลผลิตทางการเกษตรของไทยยอดเยี่ยมไม่แพ้ใครในโลก แต่แน่นอนว่าเมื่อมีจุดแข็งก็เป็นธรรมดาที่จะมีจุดอ่อนบ้าง เนื่องด้วยปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน มีมากเกินพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งจุดที่มีมากเกินไปจนล้นตลาดนี่แหละ กลายมาเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ และย้อนกลับมาเล่นงานเกษตรจนได้
และแม้ว่าการแก้ปัญหาระยะยาว กำลังเร่งดำเนินการโดยรัฐบาล แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน” ก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน ซึ่งหัวข้อนี้ก็ได้ถูกภาครัฐหยิบยกมาคุยเป็นประเด็นเร่งด่วน พร้อมสร้างนโยบายที่มีชื่อว่า “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ขึ้นมาเมื่อปี 62 
“เพื่อดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ จนกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ โดยนำร่องในพืชเศรษฐกิจของไทย 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา” นี่เป็นคำพูดอธิบายที่มาของโครงการโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน
มาในวันนี้ที่ภาคเศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาที่ประดังเข้ามาแบบคุมไม่ได้ (จากโควิด-19) ถือว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจ ที่รองนายกฯ คนนี้ ยังสามารถดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไปได้ ซึ่งจากรายงานล่าสุด นายจุรินทร์ ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการประกันรายได้ฯ ด้วยตัวเอง ณ บ้านกระแอกใหญ่ ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมแจกแจงผลการดำเนินโครงการฯ ของรัฐบาล ซึ่งรัฐได้จัดสรรวงเงิน 67,754 ล้านบาท ดูแลและมีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกว่า 7.3 ล้านครัวเรือน โดยปัจจุบันจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้ว 54,762.47 ล้านบาทต่อจำนวนเกษตรกร 3.445 ล้านครัวเรือนด้วยกัน
ซึ่งหากจะเพิ่มดีเทลให้ชัดเจน สำหรับพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจ่ายเงินชดเชยพืชทั้ง 5 ชนิดไปแล้ว 11,703.91 ล้านบาท ต่อจำนวนเกษตรกร 904,020 ครัวเรือน แบ่งเป็น
สินค้าข้าว 877.70 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 115,789 ครัวเรือน
สินค้าปาล์มน้ำมัน 249.49 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 27,365 ครัวเรือน
สินค้ายางพารา 6,430.88 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 364,939 ครัวเรือน
สินค้ามันสำปะหลัง 3,975.51 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 340,243 ครัวเรือน
และสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 170.33 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 55,684 ครัวเรือน
“ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับนโยบายเร่งด่วน” แต่ที่มากไปกว่านั้น รองนายกฯ ยังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 63 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และเห็นชอบในหลักการในการดำเนินการในปีต่อไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาราคาและปริมาณประกันรายได้ต่อครัวเรือนเพื่อนำเสนอ นบข. พิจารณาอีกครั้ง
“นั่นหมายความว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรของผู้ปลูกข้าว จะยังดำเนินการต่อไป”
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ยิ่งไปกว่านั้นในปีการผลิต 2563/64 กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รับไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินในส่วนนี้ไม่ว่าจะประสบภัยธรรมชาติและไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
ถือได้ว่า คำพูดที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยกล่าวไว้เมื่อปีก่อน จะสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว พร้อมๆ กับผลลัพธ์ที่น่าพอใจของเกษตรผู้ปลูกพืช 5 ชนิดด้วย ซึ่งสิ่งที่เราต้องคอยติดตามกันต่อ ก็คงจะเป็นนโยบายระยะยาว ว่าจะมีความคืบหน้ามากแค่ไหน และจะทำได้ดีเท่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรครั้งนี้หรือไม่ อีกไม่นานเราคงได้รู้กัน