ไทยก้าวล้ำหน้า จัดเยียวยาจิตใจบุคลากรทางการแพทย์จากวิกฤต COVID-19
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในการจัดการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพรอบด้าน และบัดนี้ประเทศไทยได้ก้าวล้ำหน้าไปอีกขั้น ในการดูแลเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั่นคือ การฟื้นฟูด้านจิตใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 หรือนักรบในชุดกาวน์ที่สู้รบอยู่แนวหน้าในสงครามโรคระบาดครั้งนี้
เสถียรธรรมสถาน ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัด ‘การจัดฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19’ เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูจิตใจให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อทำให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูจิตใจฯ ด้วยการใช้หลักสูตร ‘ศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ’ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังและความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตไปได้อย่างมีสุขภาวะ และเพื่อพัฒนาหลักสูตรต้นแบบในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน เปิดเผยว่า “ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 เราได้ปิดเสถียรธรรมสถานเมื่อประมาณเดือนมีนาคม คุณแม่ได้ไปอยู่ที่หุบเขาโพธิสัตว์ 2 เดือน เราพบว่าเราพึ่งตัวเองได้ นอกจากนั้นเรายังเป็นหลุมหลบภัยที่มีชีวิตให้กับผู้อื่น เมื่อกลับมาแล้วคุณแม่จึงได้ประสานไปที่กรมสุขภาพจิต เพื่อเสนอตัวที่จะเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ซึ่งเป็นเหมือนขุนพลของเรา ในแบบ Spiritual Therapy คือการเยียวยาด้วยสติปัญญา ที่ไม่ใช่แค่คำปลอบโยน แต่เพื่อให้รู้แจ้ง เราขอเป็นหยดน้ำที่เยียวยาทุกคน”
“การเยียวยาครั้งนี้เป็นการใช้ Mindfulness Hospital ภายในเสถียรธรรมสถานแห่งนี้ ออกแบบสภาพแวดล้อมโดยใช้อายตนะทั้งรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทำให้คนหนึ่งคนที่เหนื่อยล้าจากสถานการณ์ COVID-19 รู้สึกปลดปล่อยได้ ทำให้คนที่แบกของหนักมาด้วยความกลัว สามารถวางได้ ปล่อยได้ อยู่กับโลกที่ต้องขจัดความกลัว หยั่งรู้เท่าทันอวิชชา ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยนวิธีคิดนั่นเอง”
“ในสถานการณ์ที่ทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะขอฝากหลักคิดด้วยหัวใจโพธิสัตว์ให้กับทุกคน นั่นคือ 1. ยอมตนให้คนใช้ 2. ฝึกตนเพื่อใช้คน และ 3. ไม่รอให้ใครใช้ และพบกับความสุข 3 ขั้น อันได้แก่ 1. สุขง่ายๆ จากการใช้ให้น้อยลง 2. สุขเมื่อสร้าง (ไม่สุขเมื่อเสพ) และ 3. สุขเมื่อให้ รับใช้กันทางสติปัญญามากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้ทั้งนั้น ซึ่งคุณแม่เองก็ปฏิบัติตามหลักการนี้เช่นกัน”
“สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกคลี่คลายมากขึ้นก็คือ ในเชิงการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวในลักษณะ Spiritual Tourists เพิ่มขึ้น เพราะผู้คนทั่วโลกต่างโหยหาการบำบัดทางจิตใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่ดีต่อเขาในมิติด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น อาหารสุขภาพ การภาวนากับการท่องเที่ยว วัฒนธรรมสู่อารยธรรม มิตรภาพ เกื้อกูลดูแล เคารพในความแตกต่าง ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้ก็คือเอกลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทยนั่นเอง”
“สำหรับเสถียรธรรมสถาน วิกฤต COVID-19 เป็นเวทีของการนำธรรมะออกไปรับใช้ผู้คน การจัดฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการสู่การเป็นต้นแบบ โดยนำบุคลากรทางการแพทย์มาอบรม และนำความคิดเห็นทางด้านสาธารณสุขมาใช้ร่วมกับธรรมะเพื่อความถึงพร้อมในทุกมิติ มาถอดหลักสูตร และนำไปใช้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้าง เพื่อให้มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น ฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ที่ต้องแบกรับความเครียด ความวิตกกังวล เสถียรธรรมสถานพร้อมเป็นหลุมหลบภัยที่มีชีวิตให้กับท่านเสมอ” แม่ชีศันสนีย์กล่าวทิ้งท้าย