ADS


Breaking News

หอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปูและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ มูลค่า 30 ล้านบาท

กุญแจสำคัญลดความเสี่ยง-เร่งการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงวิกฤต
รองรับการช่วยเหลือคนไทยในระยะยาว
มองย้อนไปถึงวิกฤตการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยในระยะการแพร่ระบาดที่เริ่มทวีความรุนแรงจน น่าเป็นห่วงเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบททดสอบชุดใหญ่ของการรับมือของคนไทยทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อให้ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยให้หายเป็นปกติ ท่ามกลางความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ผ่าน “ห้องความดันลบ”
ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากการที่บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทัพหน้าของการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้รับกำลังแรงใจอย่างท่วมท้นจากสังคมในฐานะฮีโร่ของคนไทย อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถปฏิบัติงานได้อย่างบรรลุผลสำเร็จคือความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของห้องความดันลบ (Negative Pressure) ด้วยคุณสมบัติที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศภายในห้องออกไปสู่นอกห้องได้  เนื่องจากอากาศภายในห้องที่ใช้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้ออาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือละอองฝอยที่เกิดจากการจามหรือไอของผู้ป่วย ห้องความดันลบจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเกิดความอุ่นใจในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 

ความมุ่งมั่นเพื่อคนไทยของ “บ้านปูฯ”
ในประเทศไทย โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากความพร้อมของบุคลาการทางการแพทย์และเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลศูนย์กลางที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แหล่งสำคัญของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการโอนย้ายผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อจากโรงพยาบาลอื่นๆ มาดูแลรักษาอีกด้วย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ด้วยการสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจแบบความดันลบ (Negative Pressure) ที่มีเฮป้าฟิลเตอร์ (HEPA filter) กรองเชื้อโรคได้เล็กถึง 0.3 ไมครอน สามารถดักจับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดหาเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการจัดการโรคอุบัติใหม่นี้ เช่นระบบเชื่อมต่อข้อมูลเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันจากในห้องความดันลบสู่จอมอนิเตอร์นอกห้องเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้จากภายนอกห้อง ช่วยลดความเสี่ยง รองรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19  เสริมกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยครั้งนี้ไปด้วยกัน

โดย คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ และคุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เห็นพ้องต้องกันในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนี้ และได้เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปูที่สร้างเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว

คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ เปิดเผยว่า บ้านปูฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดีเสมอมา ในยามที่ประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดของเราต้องเผชิญวิกฤตเช่นนี้ เราก็มุ่งหาหนทาง ที่จะช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาต่างๆ โดยเร็ว จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง บ้านปูฯ จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล จัดตั้งกองทุน “มิตรผล-บ้านปู  รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19” มูลค่ารวม 500 ล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมอย่างรวดเร็วและเป็นขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้องค์กรในทุกภาคส่วนมาร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ โดยเป็นการระดมทุนกันบริษัทละ 250  ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นลำดับแรก เพราะเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยและควบคุมสถานการณ์ของวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับยกระดับมาตรฐานประเทศไทยในสายตานานาประเทศถึงเรื่องความปลอดภัยและความพร้อมด้านสาธารณสุข 

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ย้ำความสำคัญของห้องความดันลบ
ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ข้อมูลว่า ห้องความดันลบนั้นมีคุณสมบัติในการปรับความดันอากาศภายในห้องให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้องจึงทำให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไม่สามารถแพร่ออกสู่ภายนอกห้องได้ โดยเดิมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีห้องความดันลบจำนวน 4 ห้องซึ่งไว้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆ เช่น วัณโรค จนกระทั่งมีโรคอุบัติใหม่นี้ขึ้นมา นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลได้รับผู้ที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อมาตรวจคัดกรองทั้งสิ้น 1,018 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในความดูแลมากถึง 31 ราย บ้านปูฯ เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างห้องความดันลบ โดยมอบเงินถึง 30 ล้านบาทเพื่อพัฒนาหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู ซึ่งน่าจะเป็นหอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจที่ดีที่สุดของประเทศแห่งหนึ่งในขณะนี้ ช่วยยกระดับความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งทำให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือโรงพยาบาลในระดับภูมิภาคที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยวิกฤตเหล่านี้ได้ และทำให้โรงพยาบาลสามารถแยกผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถ นำห้องปกติไปช่วยดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ ห้องแห่งนี้ยังสามารถเปลี่ยนระบบอากาศให้เหมาะสมกับการใช้งานรองรับผู้ป่วยอื่นๆ ได้อีกด้วย อย่างการปรับให้ด้านในห้องผู้ป่วยมีความดันสูงกว่าด้านนอก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำให้ไม่เสี่ยงรับเชื้อจากภาคนอกอีกด้วย ส่วนเครื่องช่วยหายใจก็มีความจำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะล้มเหลวจากการหายใจที่เกิดจากปอดอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญเช่นกัน ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ต้องขอขอบคุณบ้านปูฯ เป็นอย่างสูงที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

ไม่ใช่เพียงห้องรักษาโควิด-19 แต่พร้อมเปิดให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ต่อยอด
นอกจากการแก้วิกฤตโควิด-19  รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้มองถึงโอกาสการต่อยอดประโยชน์จากห้องความดันลบที่ได้มาจากบ้านปูฯ ในด้านการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ เพราะ “ห้องความดันลบ” นับว่าเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมาก ที่ผ่านมาจำเป็นต้องใช้สำหรับรับรองผู้ป่วยโรค ติดเชื้อมาโดยตลอด โดยเฉพาะโรควัณโรค ดังนั้นเมื่อจบวิกฤตโควิด-19 แล้ว จำนวนห้องที่เพิ่มขึ้นจากการบริจาคของบ้านปูฯ นี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถประสานความร่วมมือกับทางโรงพยาบาล เพื่อให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ได้มาเรียนรู้ทำความเข้าใจเครื่องมือที่ครบครันและได้มาตรฐาน โดยนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยและพัฒนาวงการแพทย์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับศักยภาพของห้องปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยในความดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์อีกด้วย เพราะจากแนวโน้มของมลพิษและความผันผวนของธรรมชาติในปัจจุบันก็เป็นไปได้ว่าจะมีผู้ป่วยที่เกี่ยวกับโรคปอด หัวใจ และระบบทางเดินหายใจหรือการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจอุบัติขึ้นได้ใหม่

สำหรับการช่วยเหลือเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) ได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 30,000,000 บาท แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบไปด้วย
  1. ห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure) แบบแยกห้อง เพื่อใช้สำหรับรักษาและป้องกันการแพร่กระจายโรคสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 10 เตียง
  2. ห้องหัตถการผู้ป่วยความดันลบ จำนวน 1 เตียง
  3. เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 11 เครื่อง
  4. อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล เครื่องส่องตรวจทางเดินหายใจ เครื่องวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องเฝ้าระวังและติดตามสัญญาณชีพ เครื่องกดนวดหัวใจอัตโนมัติ อุปกรณ์ส่องตรวจหลอดลม และชุดป้องกันอนุภาคที่เป็นอันตรายจากฝุ่นละอองและเชื้อโรค

นอกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว บ้านปูฯ ยังได้ใช้งบประมาณจากกองทุนฯ เพื่อจัดสรรมอบเงินสนับสนุนแก่โรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมไปถึงยังได้มอบถุงยังชีพอันประกอบด้วยข้าวของอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้หน่วยงานและประชาชนในจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง เพราะบริษัทฯ เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตกงาน สภาวะเศรษฐกิจหดตัว ส่งผลให้ขาดรายได้และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วย โดยตลอดการบริจาคจนถึง ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 กองทุนมิตรผล-บ้านปู ได้บริจาคไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท

บ้านปูฯ มุ่งหวังว่าการช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ จากบ้านปูฯ จะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว
***************************
เกี่ยวกับบ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม