อว. บีโอไอ เดลต้า ผนึกกำลังพัฒนา ชุดปลอดเชื้อ PAPR ให้บุคลากรทางการแพทย์ สู้โควิด-19
อว. บีโอไอ เดลต้า ผนึกกำลังพัฒนาระบบอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูง สำหรับชุดปลอดเชื้อให้บุคลากรทางการแพทย์ (PAPR)
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มร.แจ็คกี้ ชาง (Jackie Chang) ประธานบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แถลงความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาชุดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 โดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน วช. และเครือข่ายวิชาการได้พัฒนาและสนับสนุนระบบพัดลมปลอดเชื้อคุณภาพสูง (DC Fan) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของชุดปลอดเชื้อความดันบวกและหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (Powered Air-Purifying Respirators หรือ PAPR) ที่พัฒนาโดยสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ซึ่งพัดลมจะดูดอากาศจากภายนอกผ่านตัวกรองอากาศ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นอากาศที่สะอาดแล้วจ่ายลมให้กับหน้ากากป้องกันเชื้อโรคความดันบวกที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องใช้ ทั้งนี้บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มอบระบบพัดลมปลอดเชื้อ จำนวน 10,500 เครื่อง ให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เพื่อดำเนินการนำไปประกอบการผลิตชุดปลอดเชื้อและหน้ากากป้องกันเชื้อโรคความดันบวกให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อไป
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีนโยบายเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในสังกัด มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนโยบายสำคัญคือการสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงให้เพียงพอกับความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้มอบให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นโครงการเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศที่ใช้ในการควบคุมป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัย N95เพื่อใช้ทางการแพทย์ ชุดป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรการแพทย์ (Personal Protective Equipment หรือ PPE) เช่น หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) เสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (Surgical gown) และชุดป้องกันร่างกาย (Safety cover all) เครื่องช่วยหายใจ (Ventilators/Respirators) ระบบห้องและการปรับอากาศแรงดันลบ (Negative-pressure Facilities) และโรงพยาบาลสนาม