อว.โดย วช. ร่วมเสวนากับ TBCSD และ TEI ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยภาคธุรกิจไทย
สืบเนื่องจาก ประเด็นปัญหาเรื่อง PM2.5 ปัจจุบันได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ(Country Issue) ที่มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาต้องพิจารณาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดังนั้น องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง "ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5" ในวันอังคารที่ 10 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมสวนสน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) อาคาร ENCO B กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 และแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ในการเสวนาครั้งนี้ คุณนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ให้การกล่าวต้อนรับ และคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้เป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน โดย TBCSB และ TEI ได้เชิญผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยภาคธุรกิจของไทยเข้าร่วมการเสวนา ซึ่งคณะวิทยากรประกอบด้วย ดร.ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย, คุณเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, คุณวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คุณเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด, ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมี ดร.อรทัย พงศ์รักธรรม ผู้ช่วยสำนักเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สำหรับการเสวนาข้างต้น ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ผู้บริหารสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เป็นผู้แทน อว.ในการร่วมเสวนาในภาคของการวิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการกำหนดนโยบาย Science-based หรือ Evidence-based policy ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ พร้อมนี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไทย ในประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศและ PM2.5 ที่ได้ดำเนินการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ที่มุ่งเน้นให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละออง/หมอกควันอย่างเป็นระบบ โดยผลงานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนลักษณะรูปแบบทางการเกษตรกรรม, ข้อเสนอเชิงนโยบาย การพัฒนาเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) “DustBoy” และระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT AQIC) ปัจจุบัน นวัตกรรมจากการวิจัยได้เดินหน้าสู่การบูรณาการเพื่อลดปัญหาฝุ่นด้วยกลไก Quadruple Helix ผ่านกิจกรรมการแข่งขันแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งการหาแนวทางการจัดทำมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 รูปแบบ Low Cost Sensor จากงานวิจัยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) รวมทั้งสร้างฐานข้อมูล Big Data ในการทำวิจัยเพื่อคาดการณ์การเกิดค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้งานวิจัยในประเด็นนี้ก้าวทันสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม