กรมศุลกากร แถลงข่าวประจำเดือนมีนาคม 63
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าว ในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรได้ทั้งสิ้น 2,196 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 140 ล้านบาท โดยเป็นคดีลักลอบคิดเป็นร้อยละ 74.6 ของมูลค่าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ บุหรี่ และเคตามีน
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แอมเฟตามีน
ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีดังนี้
1.ยาเสพติด 1.1 เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 กรมศุลกากรได้ติดตามผู้โดยสารหญิงชาวไทยต้องสงสัยว่าอาจมีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย ต้นทางจากประเทศอินเดียปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
จากการสืบสวนเชิงลึก พบว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวต่างชาติที่ลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศแล้วทำการแบ่งบรรจุเพื่อขายในประเทศ ส่วนหนึ่งส่งออกไปไต้หวัน ผลการตรวจสอบพบ ยางกัญชา จำนวน 9.5 กก. ซุกซ่อนในช่องลับของกระเป๋าเดินทาง จึงถูกจับกุมและนำมาขยายผลไปยังผู้สั่งการ
ต่อมาทาง Airport Interdiction Task Force: AITF ได้วางกำลังเพื่อจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งชุดจับกุม ได้ทำการจับกุมชายชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้สั่งการ ผลการตรวจค้นพบเคตามีนประมาณ 6 กก. และกัญชาแห้ง 2 ถุง น้ำหนักประมาณ 135 กรัม พร้อมอุปกรณ์การแบ่งบรรจุตาชั่งที่ปิดผนึกถุงพลาสติก
จากการสืบสวนเพิ่มเติม พบสถานที่แบ่งบรรจุเป็นห้องพักย่านคลองจั่น จึงได้เข้าทำการตรวจค้น พบเคตามีน 1 ถุง น้ำหนัก 135 กรัม อุปกรณ์สำหรับอำพรางยาเสพติด ที่จัดทำเพื่อซุกซ่อนยาเสพติดล็อตใหม่จำนวนหนึ่ง จึงได้จับกุมชายไทยผู้พักอาศัยในห้องดังกล่าวเพิ่มอีก 1 คน นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี พร้อมยาเสพติดที่ยึดได้ประมาณ 19 ล้านบาท
1.2 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 กรมศุลกากรได้ติดตามผู้โดยสารต้องสงสัยชาวต่างชาติ เดินทางมาจากโดฮา กาตาร์ ผ่าน แอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย ปลายทางกรุงเทพ มีความเสี่ยงตามรูปแบบของผู้ลักลอบขนโคเคนเข้าประเทศ ผลการตรวจค้นโดยการเอ็กเรย์พบโคเคนซุกซ่อนในช่องลับรอบกระเป๋าเดินทาง น้ำหนัก 2,110 กรัม มูลค่าประมาณ 6.33 ล้านบาท จึงส่งผู้ต้องหาดำเนินคดีต่อไป
1.3 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร ได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัยและได้ทำบันทึกยึด จากผลการตรวจสอบพบยาอี คละสี ต้นทางจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 Ecstasy รวมทั้งสิ้น 88,345 เม็ด มูลค่าโดยประมาณ 70.67 ล้านบาท
และกัญชาแห้ง ต้นทางจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รวมทั้งสิ้น 3.89 กิโลกรัม มูลค่าโดยประมาณ 778,000.00 บาท
2. สินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 กรมศุลกากรและหน่วยงานความมั่นคง จับกุมเมล็ดข้าวโพดแห้ง ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 45,000 กิโลกรัม มูลค่า 348,750 บาท รถบรรทุก 4 คัน ผู้ต้องหา 4 ราย ของกลางและผู้ต้องหานำส่งด่านศุลกากรแม่สอดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
3. เนื้อกระบือแช่แข็ง
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจค้นห้องเย็นของบริษัทแห่งหนึ่ง ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหมายค้นของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบสินค้าประเภท เนื้อกระบือแช่แข็ง เมืองกำเนิดประเทศอินเดีย ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวน 7,492 ลัง น้ำหนักรวม 150,140 กก. มูลค่ามากกว่า 22 ล้านบาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
(2) ครั้งแรก!! จัดเก็บดีเอ็นเองาช้าง ขยายผลคดีใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
ตามที่ กรมศุลกากรบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายโดยใช้เทคนิควิธีการในการสืบสวน และเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย รวมถึงวิเคราะห์ติดตาม กลุ่มขบวนการที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้างาช้าง ซึ่งเป็นผลให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรมีผลการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 46 คดี ปริมาณงาช้างของกลาง มากกว่า 5.5 ตัน โดยเฉพาะในปี 2558 ได้มีการตรวจยึดงาช้างได้ทั้งสิ้น 5,176 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการตรวจยึดมากที่สุดในประเทศไทย
เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนขยายผลในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบทั้งหมด จึงเป็นผลให้เกิดการดำเนินการจัดเก็บดีเอ็นเองาช้างของกลางเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำไปขยายผลดำเนินคดีคดีกับผู้เกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบทั้งในและนอกประเทศ
การดำเนินการจัดเก็บดีเอ็นเองาช้างในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations : HSI) ซึ่งได้นำผู้เชี่ยวชาญ ดร.แซมมวล วาเซอร์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ศุลกากร กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากงาช้างของกลางในคดีจากประเทศคองโกและเคนยา ระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยงาช้างที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างในครั้งนี้ มีน้ำหนักกว่า 3.23 ตัน (510 ชิ้น) จากประเทศเคนยาและน้ำหนัก 2.25 ตัน (802 ชิ้น) จากประเทศคองโก ตัวอย่างเหล่านี้จะได้รับการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดย ดร. วาเซอร์และทีมงาน เพื่อตรวจสอบว่ามีการเชื่อมโยงกับการตรวจยึดอื่น ๆ หรือไม่ และเพื่อดำเนินคดีกับผู้ลักลอบที่เกี่ยวข้องในที่สุด
ด้วยความทุ่มเทในการขยายผลการจับกุมไปยังกลุ่มขบวนการลักลอบทั้งภายในและต่างประเทศ และความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่นำเข้าจากแอฟริกา เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง ทำให้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสถอดประเทศไทยจากบัญชีดำงาช้างไซเตส
(3) ชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งเตือนการหลอกลวง กรณีอ้างชื่อกรมศุลกากร
กรณีบุคคลแอบอ้างเอกสารใบรับรองจากกรมศุลกากรในการรับรองการนำเข้าเงินในกระเป๋าเดินทาง หรือ กรณีที่มีผู้เสียหายได้สั่งซื้อของผ่านทางเว็บไซต์ และมีบุคคลได้แจ้งแก่ผู้สั่งของว่าสินค้ารอการตรวจปล่อยอยู่ที่ศุลกากรและขอให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีการใช้เอกสารที่มีเครื่องหมายตราสัญลักษณ์และชื่อของกรมศุลกากรแจ้งให้โอนเงินค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ กรมศุลกากรจึงทำการตรวจสอบเอกสารดังกล่าว พบว่าเป็นเอกสารปลอมที่ไม่ได้มีการออกโดยกรมศุลกากร
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีผู้ที่อ้างตัวเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าโฆษณาในการจัดทำหนังสือ รายงาน วารสาร หนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส “ครบรอบ 146 ปี กรมศุลกากร” หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆของกรมศุลกากร โดยมีการกำหนดอัตราค่าโฆษณาไว้อย่างชัดเจนเป็นจำนวนหลักหมื่นขึ้นไป พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่ากรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือดังกล่าว กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการว่าจ้างสื่อสิ่งพิมพ์รายใดจัดทำหนังสือ รายงาน วารสาร หนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส “ครบรอบ 146 ปี กรมศุลกากร” หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆของกรมศุลกากร แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ทางกรมศุลกากร สามารถติดต่อ สอบถามข้อมูลทางศุลกากรได้ที่ Customs Call Center 1164 หรือ e-mail : 1164@customs.go.th หรือติดต่อด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยัง สำนักงานหรือด่านศุลกากรทุกแห่ง ในวันและเวลาราชการ
(4) จากกรณีที่มีข่าวในเพจของสื่อโซเซียล เรื่อง หน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกัก โดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้น กรมศุลกากรขอชี้แจงว่า กรมฯ มิได้นิ่งเฉยและทำการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าภาพที่ทางเพจดังกล่าวได้นำมาลงนั้น เป็นภาพที่เหมือนกับการลงขายหน้ากากอนามัยในต่างประเทศ อีกทั้งทางผู้บริหารได้มีข้อสั่งการให้ตรวจสอบไปยังพื้นที่ ที่อาจมีการนำเข้า และไม่พบกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการทำงานของกรมศุลกากรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม