ADS


กกพ. ตรึงเอฟที หนุน ศก.ไทย ฝ่าด่าน COVID-19

กกพ. ลงมติตรึงเอฟที งวด พ.ค. - ส.ค. 2563 ต่อเนื่อง หลังประเมินสถานการณ ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว หวัง ตรึงต้นทุนค่าไฟช่วยภาคธุรกิจ และค่าครองชีพพี่ น้อง ประชาชน
     นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่ออีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5,120 ล้านบาท ในการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟที
     “กกพ. ได้ประเมินสถานการณ์ผลกระทบโดยรวมของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19   ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว โดยที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  จึงยังคงดำเนินการการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟทีต่อเนื่องอีก 4 เดือน” นายคมกฤช กล่าว
นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับภาวะการณ์ในระยะ 4 เดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น  สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งคาดว่าราคาเชื้อเพลิงในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง อาทิ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก  อย่างไรก็ตามการประมาณการค่าเอฟทีต้องนำภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากส่วนต่างค่าเอฟทีประมาณการกับค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในครั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากประมาณการไว้
     ทั้งนี้เงินในการบริหารจัดการเอฟทีในงวด พ.ค. – ส.ค. 2563 จำนวน 5,120 ล้านบาท  นำมาจากการกำกับฐานะการเงินของการไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด
     สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด พ.ค. – ส.ค. 2563 ในรายละเอียด ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2563 เท่ากับ 69,920 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,724  ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.38 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2563 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 58.34 ถ่านหิน ร้อยละ 16.32 และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 16.20
3. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 263.19 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 3.50 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชน อยู่ที่ 2,488.19 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 16.59 บาทต่อตัน 

ประเภทเชื้อเพลิง 
หน่วย
ม.ค. – เม.ย. 63 (ประมาณการ)
[1]
พ.ค. – ส.ค. 63
(ประมาณการ)
[2]
เปลี่ยนแปลง
[2]-[1]

- ราคาก๊าซธรรมชาติ ทุกแหล่ง*

บาท/ล้านบีทียู
266.69
263.19
-3.50

- ราคาน้ำมันเตา FO 3.5%S

บาท/ลิตร
18.54
18.29
-0.25

- ราคาน้ำมันดีเซล

บาท/ลิตร
22.53
22.66
+0.13

- ราคาลิกไนต์ (กฟผ.)

บาท/ตัน
693.00
693.00
0.00

- ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย (IPPs)

บาท/ตัน
2,471.60
2,488.19
+16.59

หมายเหตุ: *ราคาก๊าซฯ รวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการของโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน

4. อัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับ 31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่ากว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายน 2562 ที่ 30.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 


อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 มีนาคม 2563 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

เกี่ยวกับ กกพ.


     คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

#กกพ
#เอฟที

#FT