ปอดบวมจากอู่ฮั่น: ประเทศไทยจุดไหน “ใช่พอดี”
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผยการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศจีน พร้อมแนะวิธีการป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาแหล่งที่มีการระบาดของโรค เผยยังไม่มียารักษาไวรัสหรือยาต้านไวรัสโดยตรง ได้แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการหรือการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น แต่ในอนาคตโรคนี้จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ที่ไม่รุนแรง โดยคนทั่วไปจะเริ่มมีภูมิต้านทานและปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดต่อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเกิดขึ้นจากการติดต่อทางระบบทางเดินหายใจและการสัมผัสสารคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินคือ ผู้ที่มีประวัติเดินทางจากประเทศจีนหรือหรือไม่มีประวัติสัมผัสคลุกคลีกับผู้ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และ มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีนหรือไม่มีประวัติสัมผัสคลุกคลีกับผู้ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แต่มีการของโรคหวัดควรพักอยู่บ้านรักษาตามอาการ หรือไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยและทั่วโลก ยังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสอื่น ๆ ซึ่งทำให้มีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ได้เช่นกัน
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล
https://web.facebook.com/737048116416039/videos/199580437829691
https://web.facebook.com/737048116416039/videos/199580437829691
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้นเริ่มระบาดจากคนสู่คน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาแหล่งที่มีการระบาดของโรค อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.5 % ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ยกตัวอย่างในประเทศจีน 1. ในรายที่นอนโรงพยาบาล อาการปานกลางถึงรุนแรงจำนวน 41 คน ทุกรายมีปอดอักเสบ 2. 30% มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป 3.ส่วนใหญ่มักจะมีไข้ และ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ 40% 4. อย่างไรก็ตามมีอาการที่ระบบอื่น ๆได้ด้วยเช่นปวดหัว ท้องเสีย (ไม่ค่อยมีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเหมือน SARS) 5. โรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (30%) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไวรัสกระจายในกระแสเลือด และ 6.อัตราตายประมาณ 15% ในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล ด้วยอาการปอดอักเสบ ซึ่งต่อไปในอนาคตเชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่รุนแรง โดยคนทั่วไปจะเริ่มมีภูมิต้านทานและปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกูล เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประทศไทย ให้ข้อมูล
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกูล เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันยาต้านไวรัสยังมีจำนวนน้อยมาก โดยขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ได้แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการหรือการรักษาแบบประคับประคอง ตามหลักเกณฑ์การรักษา ซึ่งอาจมีการนำยาที่รักษาผู้ป่วยเอชไอวี หรือยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ มาใช้ได้ในบางสถานการณ์ขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแลของแพทย์ ทั้งนี้การรักษายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ายาต้านไวรัสตัวใดมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ โดยทั่วไปโรคจะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาประคับประคองตามอาการจึงมีส่วนสำคัญที่สุด สำหรับ คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือ ป้องกันการติดเชื้อด้วยการลดระยะเวลาการอยู่ในสถานที่แออัดให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ที่มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ระวังไม่ขยี้ตา แคะจมูก หรือหยิบสิ่งของเข้าปากด้วยมือที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาด ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาอยู่ในสถานที่แออัดหรืออยู่ใกล้กับผู้ที่มีอาการไอ และทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์หรือการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นอกจากนี้การติดตามข่าวสารควรติดตามจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น