“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดตัวบัณฑิตอาสาอุดรธานี นำร่อง “บ้านห้วยสำราญ”
วันที่ 17 ก.พ.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ 1.มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 2.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับ งบประมาณทุนวิจัย ของมหาวิทยาลัย และโครงการต่างๆ ของ อว. ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ต่อมา ดร.สุวิทย์ฯ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมฯ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงพื้นที่สู่เส้นทางยุวชนสร้างชาติบัณฑิตอาสาอุดรธานี พื้นที่นำร่องบ้านห้วยสำราญแหล่งปลูกไม้ดอกใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ภายใต้กิจกรรม “ยกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP” ซึ่งบ้านห้วยสำราญ เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกเพื่อการท่องเที่ยว ซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่มีปัญหาพันธุ์ไม้ดอกกลายพันธุ์ โรคโคนเน่า ใบแห้ง การระบาดของแมลงเพลี้ยไฟ ขาดแรงงาน ระบบน้ำในแปลงไม่ทั่วถึง มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากและเกษตรกรไม่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตสูง ถูกกดราคา ขาดการวางบแผนการผลิต สินค้าล้นตลาด รวมกลุ่มไม่ได้ ตลาดชุมชนไม่เป็นระบบ มีปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย
ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่าหลังการเยี่ยมชมว่า บ้านห้วยสำราญ จะเป็นโครงการนำร่องที่จะนำบัณฑิตอาสาลงมาแก้ปัญหา อาทิ โครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต การแปรรูป การตลาด และยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น โดยทุกโครงการจะมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบภายใต้ศักยภาพและปัญหาที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ โดยที่บ้านห้วยสำราญ อว.จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยพื้นที่ขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ โดยมีบัณฑิตอาสา เป็นฟันเฟืองในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น