ประชาชนชาวนนทบุรี และกรุงเทพฯ พร้อมใจร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 จ.นนทบุรี
กฟผ. และ บริษัท ซีคอท จำกัด ขอขอบคุณประชาชนชาวนนทบุรี และกรุงเทพฯ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 กว่า 700 คน แสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการฯ โดยจะนำความคิดเห็นรวมถึงข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของประชาชนมากำหนดขอบเขตในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2563) นายชูชาติ พิพัฒน์ศรัทธา ปลัดอาวุโสอำเภอบางกรวย เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 5 เทศบาลนครนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดย นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน โดยมีประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 772 คน และมีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 18 คน
นายชูชาติ พิพัฒน์ศรัทธา ปลัดอาวุโสอำเภอบางกรวย กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ซึ่งการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม กฟผ. ร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษา บริษัท ซีคอท จำกัด จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 โดยชี้แจงเหตุผลความเป็นมา รายละเอียดของโครงการ รวมถึงเสนอร่างขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่อย่างครบถ้วนต่อไป
นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในระยะยาวในเขตนครหลวงและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการเพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ ดังนั้น กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการฯ เพื่อเสริมความมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี พ.ศ. 2571 โดยจะก่อสร้างในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน ณ สำนักงานกลาง กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า
นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการชี้แจงรายละเอียดโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทั้งส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจาในเวทีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้บริษัทจะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะข้อห่วงกังวลของประชาชนมาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมงานมีความสนใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้ เรื่องสุขภาพอยากให้มีการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้ดีขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมประชาชนห่วงกังวลเรื่องมลภาวะต่าง ๆ เช่น น้ำที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การดูแลสัตว์น้ำ เสียงในช่วงการก่อสร้าง ฝุ่นละออง มลสารที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งในช่วงการก่อสร้างและช่วงดำเนินงาน นอกจากนี้อยากให้มีมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว เป็นต้น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลต่อขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการได้ที่ น.ส.จันทิมา ยะนิล/น.ส.ฟาเดีย เชิญถนอมวงศ์ โทรศัพท์ 0-2959-3600 ต่อ 410, 413 และ 418 หรือ โทรสาร 0-2959-3535 E-mail: eedmail@secot.co.th หรือ บริษัท ซีคอท จำกัด เลขที่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 หรือ www.secot.co.th โดยแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563