ADS


Breaking News

สุนัขวิ่งชนคนขาหัก เจ้าของไม่รับผิดชอบ ท้าฟ้องคดี

     จากกรณีเจ้าของสุนัขปล่อยสุนัขวิ่งชนคนล้มจนขาหัก ที่อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต โดย เจ้าของสุนัขท้าทายผู้เสียหายให้ฟ้องร้องดำเนินคดี นั้น
     ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้น สำหรับในแง่กฎหมายก็มีก็กรณีตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนหน้านี้ ผู้เสียหายกำลังจะเดินไปซื้อของ ไม่ทันเห็นสุนัขที่ผูกล่ามไว้ ทำให้สุนัข 2 ตัว กระโดดมารุมกัดที่ขา ผู้เสียหายล้มตกลงไปในช่องคูน้ำ โทรศัพท์ iPhone X ตกแตก เจ้าของไม่รับผิดชอบความเสียหาย อีกทั้งยังท้าทายให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องต่อศาลเอง ผู้เสียหายฟ้องร้องคดีทางแพ่ง ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้เจ้าของสุนัขชดใช้เป็นเงินจำนวน 109,576 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เจ้าของสุนัขขอยื่นอุทธรณ์ และล่าสุดศาลเดือนธันวาคม 2561 อุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาจำเลยวางเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อศาลจำนวน 20,000 บาท  ดังนั้นผู้เสียหายที่ล้มบาดเจ็บขาหัก ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและอาญากับเจ้าของสุนัข 
     ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ในกรณีสัตว์ที่มีเจ้าของไปสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สิน เจ้าของต้องรับผิดชอบตาม ป.อาญา ม.377 ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของปราศจากความระมัดระวังทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายไม่มากจะมีโทษตาม ม. 390 ฐานประมาทจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท  แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จะผิดตาม ป.อาญา ม.300 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  เช่น ฎีกาที่ 3435/2527 ช้างเป็นสัตว์ใหญ่เมื่อกำลังตกมันเป็นสัตว์ดุ จำเลยไม่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพียงใช้เชือกผูกไว้ จึงกระทำโดยประมาทและเป็นเหตุโดยตรง ให้ผู้เสียหายถูกช้างของจำเลยแทงด้วยงาได้รับอันตรายสาหัส จำเลยมีความผิดตาม ป.อาญา ม.300 และการกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้ช้างเที่ยวไปตามลำพัง เป็นความผิดม.377 อีกบทหนึ่งด้วย  และถ้ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะมีความผิดตามม.291 โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับ ปพพ. ม. 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่ฝ่ายที่เสียหายจากสัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงสัตว์นั้น  
     ดังนั้นปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เจ้าของสัตว์จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ด้วยการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องไม่ทารุณกรรมแล้ว เจ้าของสัตว์ยังคงต้องมีหน้าที่ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดี นอกจากนั้นเจ้าของสัตว์ต้องไม่ปล่อยละทิ้ง หรือสร้างความลำคาญให้ผู้อื่นเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรเพราะกฎหมายได้กำหนดโทษเอาไว้เช่นกัน จึงขอฝากว่าความเมตตากรุณาต่อสัตว์ เป็นมนุษยธรรมที่มนุษย์ควรมี และปฏิบัติต่อสัตว์ร่วมโลก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อต่อสัตว์นั้นด้วย การเลี้ยงสัตว์จึงควรเลี้ยงเมื่อพร้อม ที่จะดูแลรับผิดชอบสัตว์เหล่านั้นได้ ให้ดีไปตลอดชั่วชีวิตของเขาต่อไป