ADS


Breaking News

สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2562 โดย หอการค้าไทย

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์
https://www.facebook.com/737048116416039/videos/2592552337657711/

ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมและดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกรวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม  การที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้นในช่วงปลายปีส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ทุกรายการ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.0 64.8 และ 84.2 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ  เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ในระดับ 56.4 65.4 และ 85.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
นายปรีดา  โพธิ์ทอง   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

  การปรับตัวลดลงของดัชนีส่วนใหญ่ในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 68 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จากระดับ 69.1 มาอยู่ที่ระดับ 68.3 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่อง Brexit ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงละความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมให้ข้อมูล

  สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนจากระดับ 45.2 ในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ระดับ 45.8   แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ  219 เดือนหรือ 18 ปี 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544  แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 79.6 มาอยู่ที่ระดับ 78.1 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ  67 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นมา และเริ่มปรับตัวอยู่ห่างจากระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มขาดความมั่นใจมากขึ้นเป็นลำดับว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต และหากมีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าปัจจุบันจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง