ADS


Breaking News

ผู้นำธุรกิจเอเปกเล็งขยายการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก แม้ความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มขึ้น

กรุงเทพฯ, 30 ธันวาคม 2562 – PwC เผยปีนี้ผู้นำธุรกิจในกลุ่มเอเปกเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่คาด เชื่อแนวโน้มปีหน้ายังเต็มไปด้วยความท้าทาย สาเหตุมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แต่ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศโดยมีเวียดนาม-ออสเตรเลีย-สิงคโปร์เป็นเป้าหมายหลักของการลงทุน ชี้ผู้บริหารยังเชื่อมั่นรายได้เติบโต และส่วนใหญ่มีแผนในการยกระดับทักษะของพนักงานเพื่อรับมือการเข้ามาของดิจิทัล
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Doing business across borders in Asia Pacific 2019-2020 ของ PwC ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก จำนวนมากกว่า 1,000 รายใน 21 เขตเศรษฐกิจว่า ความท้าทายในการประกอบธุรกิจในปี 2563 จะมีมากขึ้น โดย 25% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจคาดว่า ความท้าทายในการจ้างแรงงานต่างชาติจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ 26% มองว่า การให้หรือรับบริการข้ามพรมแดนจะเจอกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และ 24% มองว่า การเคลื่อนย้ายข้อมูลจะยิ่งกลายเป็นความท้าทายสำคัญในปีหน้า
นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับและผู้นำของประเทศในกลุ่มเอเปก หันมาปรับเปลี่ยนนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเติบโตของธุรกิจของพวกเขาด้วย โดย 44% ของผู้บริหารระบุว่า การลดภาษีศุลกากร หรือการมีแนวทางการแก้ปัญหาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ชัดเจน จะช่วยธุรกิจพวกเขาได้มากที่สุด แต่แม้จะมีความกังวลดังกล่าว ผู้นำธุรกิจเอเปกยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตขององค์กร โดย 34% แสดงความเชื่อมั่นมากว่า รายได้ของธุรกิจในปีหน้าจะเติบโต ซึ่งถือเป็นอัตราที่ลดลงเล็กน้อยเท่านั้นจาก 35% ในการสำรวจเมื่อปี 2561 
ทั้งนี้ เวียดนาม ยังคงเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด โดยออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับที่ 2 และสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 3 ซึ่งนี่ยังถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่ติด 3 อันดับแรกนับตั้งแต่ปี 2558 ที่ PwC เริ่มทำการวิเคราะห์ประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศ
“สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าได้ส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของทั้งสหรัฐฯ และจีนในปีนี้ ในขณะที่ประเทศอย่าง เวียดนามและออสเตรเลียกำลังได้รับประโยชน์ จากการที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มทบทวนการทำธุรกิจและติดตามความความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ อย่างใกล้ชิด” นาย บ็อบ มอริตซ์ ประธาน บริษัท PwC โกลบอล กล่าว
อย่างไรก็ดี รายงานพบว่า ยังมีข่าวดีเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติต่องาน โดย 36% ของผู้นำธุรกิจเอเปกระบุว่า กำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ ขณะที่มีเพียง 24% ที่ลดจำนวนพนักงาน โดยช่องว่างนี้แคบลงกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่ระบุว่า กำลังปรับบทบาทและความรับผิดชอบของงานใหม่ 
แต่ในขณะที่ผู้บริหารกำลังสร้างตำแหน่งงานมากขึ้น พวกเขาก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการหาบุคลากรที่จะมาทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ เช่นกัน โดย 23% ระบุว่า การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถอย่างที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากนี้ ในบางตลาดยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับทักษะแรงงานของตน (Upskilling) โดย 86% ระบุว่า พวกเขาจะเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในปี 2563 
“การจัดหาทักษะแรงงานให้มีความพร้อมและเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการเข้ามาของเทคโนโลยีกำลังเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเผชิญ ทุกธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแลนโยบาย ธุรกิจที่ไม่ใช่องค์กรรัฐ และสถาบันการศึกษา ต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับประชาชนในทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน และระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด” นาย มอริตซ์ กล่าว


กฎระเบียบและความไว้วางใจ 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้นำธุรกิจทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการเพิ่มกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อสาธารณชนในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (72%) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (76%) และความเป็นส่วนตัว (70%) 
“โดยปกติแล้ว ผู้บริหารจะไม่ค่อยเรียกร้องให้มีการเพิ่มกฎระเบียบข้อบังคับ แต่นี่เป็นเพราะองค์กรส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงความเสี่ยงของการมีนโยบายที่ไม่เชื่อมโยง หรือไม่มีประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ เช่น เอไอ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ที่อาจส่งผลต่อแผนการลงทุนและความไว้วางของผู้บริโภคต่อตัวธุรกิจ” นาย มอริตซ์ กล่าว 
“การมีกฎหมายที่ควบคุมเอไอในระยะแรกจะเป็นโอกาสสำคัญให้หน่วยงานกำกับดูแลนโยบายในภูมิภาคได้พัฒนาระเบียบปฏิบัติและมาตรฐานการใช้การนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และมีสำนึกรับผิดชอบ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่า นโยบายทางด้านเอไอต่าง ๆ ที่มีมากมายอยู่ในเวลานี้ จะไม่กลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าของดิจิทัลใหม่ ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
ทั้งนี้ ความต้องการให้มีการผลักดันในการวางกรอบนโนบายในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำธุรกิจเอเปกให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูงและเอไอ โดย 37% ของผู้บริหารระบุว่า เอไอและระบบอัตโนมัติเป็นภารกิจสำคัญสำหรับผู้บริหารระดับสูง และ 49% ระบุว่า เป็นภารกิจสำคัญในระดับฝ่ายงานหรือไอที โดยมี 12% ของผู้นำธุรกิจเอเปกเท่านั้นที่มองว่า เอไอและระบบอัตโนมัติไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจของพวกเขาในอีก 2 ปีข้างหน้า
นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า เช่นเดียวกับแนวโน้มของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจไทยในปี 2563 ยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ทั้งประเด็นเรื่องของปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะยังดำเนินต่อไป ความไม่สงบในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทที่คาดว่าจะยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าเราจะยังคงเห็นกระแสของการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบอัตโนมัติขั้นสูง คลาวด์คอมพิวติ้ง และ เอไอ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจไทยมีความจำเป็นที่จะต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของการยกระดับทักษะแรงงานด้วย ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของซีอีโอและผู้บริหารทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

//จบ//


ข้อความถึงบรรณาธิการ:

PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปกจำนวนทั้งสิ้น 1,014 ราย ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่านสามารถติดตามรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.pwc.com/apec

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 276,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย

PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2019 PwC. All rights reserved