ADS


Breaking News

พาณิชย์ ตอกย้ำโครงการเส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง ผลักดันผ้าไหมไทยเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ภาคอีสาน อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย

     กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นในศักยภาพผ้าไหมไทย นำสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวลงพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรองอย่างต่อเนื่อง บอกต่อความงดงามของผ้าไหมไทยแต่ละพื้นถิ่นสู่สาธารณชน มุ่งหน้าสู่แดนอีสาน ครั้งนี้เดินทางไปจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย ภายใต้แคมเปญ “เส้นทางสายไหม...สู่เมืองรอง” ถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมผ้าไหมท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจใช้ผ้าไหมไทย... ไหมไทย...สัญลักษณ์ไทย...ใครใครก็ใช้ได้ มั่นใจ...ความสวยงาม ทนทาน ครองใจผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าทางสินค้าได้ต่อไปในอนาคต
     นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรมเส้นทางสายไหม...สู่เมืองรองขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีชุมชนแต่ละท้องถิ่นและวัฒนธรรมเส้นไหมควบคู่กันไป ให้ผ้าไหมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อและสร้างการจดจำ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคและซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้า และบริการต่างๆ ในจังหวัดเมืองรองให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคงยิ่งขึ้น” 
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากต้องการสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้ปรับมุมมองการนำผ้าไหมมาใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้นแล้ว ยังต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผ้าไหมสามารถผลิต คัดสรร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม  ให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาเลือกซื้อ/เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ซึ่งจะเป็นการยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย ขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนส่งเสริมให้ลูกหลานในชุมชนแหล่งผลิตได้หันมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตผ้าไหมไทยมากขึ้น”
     “กิจกรรมฯ ครั้งนี้ นับเป็นเส้นทางสายไหม...สู่เมืองรอง เส้นทางที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้นำคณะสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อเสียง ร่วมเดินทางลงพื้นที่ไปยังจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย เพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด และสัมผัสเรื่องราวความเป็นมาของผ้าไหมไทยในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้ มุ่งหวังให้สื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ฯ ดังกล่าว เป็นกระบอกเสียงในการถ่ายทอดความประทับใจที่ได้พบเห็น สร้างแรงบันดาลใจให้กับสาธารณชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไหมไทย ใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในชีวิตประจำวันมากขึ้น และช่วยสนับสนุนแนวความคิดของผู้ผลิตที่ได้นำผ้าไหมพื้นถิ่นมาประยุกต์ให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ซึ่งผ้าไหมแต่ละผืน ของแต่ละชุมชน ในแต่ละจังหวัดนั้น ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามโดดเด่น ลวดลายบนผืนผ้าที่ได้มาต้องใช้ทั้งความประณีต ความพิถีพิถัน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”
     “สำหรับเส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดอุดรธานี ได้ไปเรียนรู้เรื่องราวผ้าไหมที่ ร้านพะแพง ต.หมากแข้ง อ.เมือง แหล่งผลิต / จำหน่ายผ้าไหมชนิดผืน และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม เอกลักษณ์ลวดลายความเป็นถิ่นอีสาน ผืนผ้าถักทอด้วยเทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่า ‘ผ้าทอลายขิด’ หรือ ‘ผ้าไหมลายขิด’ และย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ โดยลวดลายที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ลายกระเช้ามาลี ลายบัวสวรรค์ และลายกระทงทอง เป็นต้น ซึ่งเป็นลายที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อีกด้วย หลังจากนั้นไปชิวกับบรรยากาศร้านกาแฟและเบเกอรี่ชื่อดัง บียอน คาเฟ่ (Beyond Café) ต.หมากแข้ง อ.เมือง (เส้นรอบนอกหนองประจักษ์) ที่ตกแต่งแนว Loft ที่ทันสมัย มีกาแฟและเค้กอร่อยหลากเมนู ถือเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดที่ต้องแวะมา จากนั้นเข้าเยี่ยมชม ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า ต.หมากแข้ง อ.เมือง สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่จำลองเมืองจีนโบราณ และเป็นศูนย์รวมอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีบรรพชน และหลักปรัชญาของพี่น้องชาวไทย เชื้อสายจีนในจังหวัดอุดรธานี ปิดท้ายชวนไปสัมผัสผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติจาก กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านเชียงยืน ต.เชียงยืน อ.เมือง ที่ใช้กรรมวิธีในการผลิตแบบธรรมชาติ 100% ย้อมด้วยน้ำหมักเอ็นไซม์จากคราม ขมิ้น เห็ดหลินจือ ดอกอัญชัน ดอกจาน และสมุนไพรหรือดอกไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำให้ได้สีสันที่สวยงาม เย็นตา ไม่ฉูดฉาด โดยเส้นไหมได้มาจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี ซึ่งเป็นช่างฝีมือในชุมชนบ้านเชียงยืน และคุณลักษณะอันโดดเด่นของที่นี่ ผ้าไหมมีเนื้อแน่น แต่อ่อนนุ่ม ไม่มีกลิ่นเหม็น สวมใส่สบายไม่ร้อน และปลอดภัยไร้สารเคมี”
     “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดหนองบัวลำภู แวะไปสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่น เงียบสงบของ วัดถ้ำกลองเพล วัดป่าเก่าแก่ของจังหวัดที่สร้างขึ้นในสมัยขอม ตั้งอยู่เชิงเทือกเขาภูพาน พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย พระวิปัสสนากรรมฐาน ได้อาศัยวัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน และเข้าชม พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่ขาว อนาลโย จากนั้นเดินทางไปชมผ้าหมี่ลายโบราณ ที่ กลุ่มทอผ้าบ้านนากลาง ต.นาเหล่า อ.นาวัง กลุ่มผลิตผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณและลายประยุกต์ ย้อมด้วยสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้และใบไม้ การมัดหมี่และทอมือด้วยความประณีตบรรจง ทำให้เนื้อผ้าที่นี่มีความละเอียดนุ่ม สวมใส่สบาย ลวดลายที่โดดเด่นคือ ลายนาคต้นสน และลายดอกบัว ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTPO ระดับ 5 ดาว ถัดมาแวะ ร้านรัศมีไหมไทย  ต.ป่าไม้งาม อ.เมือง ชมผ้าไหมยกดอกลายโบราณและไหมแกมฝ้าย มีทั้งผ้าถุงดอกลายโบราณ เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคยุคใหม่ ผ้าขิดยกดอกลายโบราณ ซึ่งเป็นผ้าไหมและไหมแกมฝ้าย ถักทอด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และสัมผัสผ้าไหมหมักโคลนลายโบราณของ ร้านมูลมังผ้าไทย ต.ป่าไม้งาม อ.เมือง ซึ่งมีกระบวนการย้อมแบบดั้งเดิม ด้วยการหมักโคลนและการใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น เช่น มะเกลือ มีสินค้าแปรรูปจากผ้าไหมที่ออกแบบลวดลายให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอนุรักษ์ลวดลายโบราณไว้”
     “สำหรับเส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดเลยนั้น ที่พลาดไม่ได้ต้องแวะไปดื่มด่ำธรรมชาติริมฝั่งโขงของ แก่งคุดคู้  อ.เชียงคาน แก่งหินสวยงามขนาดใหญ่ซึ่งตั้งขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ต่อด้วย พิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด อ.เชียงคาน อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ ที่แสดงวิถีชิวิต วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และศาสนา เป็นแหล่งสืบสาน อนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม ปิดท้ายด้วยแวะชมความงดงามของผ้าลายนางหาญแห่ง ร้าน เฮือน อ้าย เอ๊ม แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาคนไทยดำ บ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน เป็นผ้าที่มีตำนานเล่าขานมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีลายอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ประกอบด้วยลายหมี่ 3 ลาย ลายขิด 2 ลาย และมี 5 สีด้วยกัน”

#thaisikroute
#DBD
#เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง