ADS


Breaking News

TCEB เร่งโอกาสการค้ากลุ่ม GMS มุ่งพันธกิจไมซ์ ยกระดับการประชุม 4 ระเบียงเศรษฐกิจ ร่วมเห็นผล

ทีเส็บ บูมการค้าการลงทุนกลุ่ม GMS เสริมแกร่งกลยุทธ์ไมซ์
ขับเคลื่อนประชุม 4 ระเบียงเศรษฐกิจ ประเดิมมูลค่าซื้อขาย 307 ล้านบาท 
     สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ บูมโอกาสการค้าการลงทุนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ผ่านการขับเคลื่อนการประชุม 4 ระเบียงเศรษฐกิจเป็นเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจไทยกับเพื่อนบ้าน สร้างมูลค่าซื้อขายได้แล้ว 307 ล้านบาท มุ่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวของภูมิภาค 
     นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ ทีเส็บ กล่าวว่า “ทีเส็บมีนโยบายใช้การประชุมหรืองานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมเมืองรองให้เป็นจุดหมายของการเดินทาง จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดประชุม 4 ระเบียงเศรษฐกิจกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region หรือ GMS) ในหัวเมืองภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงให้เกิดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านโลจิสติกส์ระหว่างผู้ประกอบการของไทยกับผู้ประกอบการของประเทศกัมพูชา เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้

    “การขับเคลื่อนการจัดประชุมระเบียงเศรษฐกิจของทีเส็บเป็นการร่วมมือกับกลุ่มองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมภาคเอกชนในจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ เป็นบทบาทใหม่ของทีเส็บในฐานะผู้ร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจ (co-creator of business opportunities) ซึ่งเป็นบทบาทภายใต้แบรนด์ “Thailand Redefine Your Business Events”
     สำหรับการขับเคลื่อนงาน ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศหรือ Domestic MICE (D-MICE) เป็นแม่งานหลัก เนื่องจากมีประสบการณ์ ผลงานและเครือข่ายองค์กรในการสนับสนุนการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าในจังหวัดหรือภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา D-MICE  ได้สนับสนุนงบประมาณ เป็นเจ้าภาพร่วมของงานประชุมระเบียงเศรษฐกิจ 4 งาน ประการสำคัญผลักดันให้มีกิจกรรมการเจรจาซื้อขายระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน”  นางนิชาภา กล่าว
     งานประชุมระเบียงเศรษฐกิจ 4 งานประกอบด้วย งานประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (International Conference on Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor Conference หรือ LIMEC) โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัดในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของไทยที่อยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลวงพระบาง ไซยะบุลี ของสปป. ลาว อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัยและตาก และเมืองในเมียนมา คือ เมียวดี ผาอานและเมาะลำไย ในปี 2561 มีการประชุมที่พิษณุโลก มีการจับคู่เจรจาธุรกิจไทย-สปป.ลาว 15 ราย ไทย-เมียนมา 5 ราย มูลค่าธุรกิจรวม 226 ล้านบาท ในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร โลจิสติกส์ สุขภาพ ก่อสร้าง เกษตร เสื้อผ้า ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คนจาก 3 ประเทศ

     งานประชุม Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Cooperation Conference (CVTEC) โดยร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันการเปิดเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ รวมทั้งพื้นที่ East Economic Corridor (EEC) ครอบคลุมเมืองกาเมาและเกียนยางของเวียดนาม เมืองพระสีหนุ เกาะกง แกบ กัมปอต และตาแกวของกัมพูชา และจังหวัดตราด จันทบุรี ระยองและชลบุรี มีการจัดประชุมในพัทยาในปี 2561 และระยองในปี 2562 ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คนจาก 3 ประเทศและได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฝ่ายเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยมีกำหนดทดลองเปิดเดินเรือในปี 2563 เป็นปฐมฤกษ์
     งานประชุม GMS Logistic Forum จัดในปี 2561 ที่กรุงเทพฯ และขอนแก่นในปี 2562 เป็นการจัดประชุมนานาชาติด้านโลจิสติกส์ของกลุ่ม GMS 6 ประเทศเป็นครั้งแรก โดยร่วมมือกับสมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  (GMS Freight Transport  Association หรือ FRETA) สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง สถาบันแม่โขง (Mekong Institute) และ GMS-BC เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันความร่วมมือ แลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการโลจิสติกส์ 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในปี 2562 มีการจับคู่เจรจาทางการค้า 112 คู่ มูลค่า 12 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 450 คนจาก 6 ประเทศ นับเป็นงานประชุมนานาชาติที่ครบวงจร และมีความเป็นมาตรฐานสากลที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     สำหรับการจัดงาน GMS Logistic Forum 2019 & Mekong Forum เมื่อวันที่ 23-25 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่จังหวัดขอนเเก่น ซึ่งเป็น MICE City ที่มียุทธศาสตร์การเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ ของ GMS โดยมีความแตกต่างจากปีก่อนๆ เนื่องจากมีการยกระดับงาน โดยการขยายระยะเวลาการจัดงาน รวมถึงองค์ประกอบการจัดงานประชุม สัมมนา เสวนาให้มีความเป็นนานาชาติ และเพิ่มกิจกรรม Business Matching นับเป็นงานประชุมนานาชาติที่ครบวงจรและมีความเป็นมาตรฐานสากลที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากวงการโลจิสติกส์ในภูมิภาค GMS สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 450 คน และคาดว่าจะมีการเจรจาจับคู่ทางการค้าเกิดขึ้นในงานไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

คุณสราญโรจน์ แสงชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ หรือ D-MICE ทีเส็บ

     งานประชุมสัมมนานาชาติ เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ GMS ครั้งที่1 (1st GMS – Thailand E-Commerce Economic Corridor หรือ GTEC) จัดในปีนี้ที่เชียงราย เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดกับผู้ดำเนินการ E-Commerce Platform เป่ยเตี้ยน ของจีน เพื่อให้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าไทยเจาะตลาดจีนผ่าน platform ดังกล่าว เป็นการสร้างระเบียงเศรษฐกิจสมัยใหม่ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ตอบสนองนโยบาย 4.0 ผู้เข้าประชุมและจับคู่ธุรกิจประกอบด้วยผู้ประกอบการภาคเหนือของไทย 120 ราย และผู้ค้า 30 ราย ผ่านระบบ E-Commerce Platform เป่ยเตี๋ยน ของจีน มีการจับคู่เจรจาธุรกิจสร้างยอดขายสินค้าไทยเข้าตลาดจีนรวมมูลค่า 69.5 ล้านบาท
     “ในปีหน้าทีเส็บจะยังคงดำเนินการสนับสนุนขับเคลื่อนการประชุมระเบียงเศรษฐกิจต่อไป หลังจากในรอบ 2 ปีที่ผลักดันให้มีการเจรจาซื้อขายทางธุรกิจ รวมมูลค่าเริ่มต้นได้ 307 ล้านบาท โดยในส่วนของระเบียบเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะขยายไปยังพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยสร้างรายได้ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและท้องถิ่นผ่านงานประชุม และตอบสนองนโยบายภาครัฐ” นางนิชาภา กล่าวเสริม

###
ข้อมูลเบื้องต้น ทีเส็บ
     สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เป็นหน่วยงานรัฐที่ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจและได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานเชิงธุรกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก หรือ การจัดงานไมซ์ (การจัดประชุมองค์กร การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ) ทีเส็บก่อตั้งในปี พ.ศ. 2547  ได้พัฒนาบทบาทในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อเป็นผู้ร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจ ร่วมแรงเพื่อพัฒนาแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมมือเพื่อพัฒนาบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ และร่วมคิดในการสร้างสรรค์พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยแนวความคิดใหม่ๆ หรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ประสบความสำเร็จในการจัดงานไมซ์