ADS


Breaking News

" เปิดกรุ "ผ้า" หาเจ้าของ (ใหม่) " ประมูล ผ้าไทย วิจิตรงดงาม ต่อยอดภูมิปัญญา ไม่สิ้นสุด

ยลโฉมผ้าไทย พร้อมร่วมประมูลในกิจกรรม เปิดกรุ “ผ้า” หาเจ้าของใหม่
     “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมพิเศษ เปิดกรุ "ผ้า" หาเจ้าของ (ใหม่) จากเจ้าของกรุผ้าที่งดงามทรงคุณค่า อาทิ กรุผ้าของ อาจารย์แก้วสิริ เอเวอร์ริงแฮม (คุณแม่ของ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม นักแสดงชื่อดัง) กรุผ้าของ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ กรุผ้าของ อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ผ้าสะสมของรักของหวงคุณพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อพิจิตรา กรุผ้าของ คุณอัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สะบันงา” จังหวัดเชียงใหม่ นักสะสมผ้าผู้มีประสบการณ์ด้านผ้าไทย และผ้าชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน
     นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เห็นถึงคุณค่าของบุคคลผู้อนุรักษ์และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ได้ทุ่มเทความอุตสาหะ รักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ซึ่งงานหัตถกรรมบางประเภทก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน อย่างผ้าไทยนับเป็นอีกหนึ่งความงดงามที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น SACICT จึงให้ความสำคัญกับการที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา เหล่านี้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ”

     “การจัดกิจกรรม เปิดกรุ "ผ้า" หาเจ้าของ (ใหม่) ครั้งนี้ เราจะได้เห็นถึงผ้าโบราณหายากจากหลากหลายเจ้าของเก่ามากมาย ทั้ง ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นไทลื้อ ผ้าซิ่นเมืองฮุน ผ้าปกหัวนาค ผ้าซิ่นลาวครั่ง ผ้ากราบไทแดง ผ้าลุนตะยาอะเชะ (ผ้าซิ่นจกพม่า) ผ้าปพรยกดอก ผ้ามัดหมี่โบราณ ผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนแดง ผ้าซิ่นภูไท ผ้ากั้งไทแดง ผ้าเบี่ยงไทแดง ผ้าซิ่นคำเคิบไหมเงิน ผ้ากั้งไทพวน ผ้าซัมป๊วดโฮล ผ้าจวนตานียกทอง ผ้าซิ่นตีนจกไหมเงิน-ไหมคำ (ทอง) รวมทั้งทั้งเสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ชุดไททรงดำ ที่ปกติทุกคนต้องทอเป็นชุดประจำตัวของตนเองไว้ใส่ตอนเสียชีวิตและเผาตามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ที่มีชุดนี้มาอยู่ในร่วมในงานเปิดกรุครั้งนี้ได้ก็เพราะว่าเมื่อมีผู้อยากได้ และไปขอซื้อก็มีบางคนยอมขายให้ เราจึงได้เห็นชุดไททรงดำที่ไม่อาจหาเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ มาร่วมหาเจ้าของใหม่ในงานนี้ด้วย”
     บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องผ้าหลากหลายหลาย ที่มีทั้งความสวยงาม มีอัตลักษณ์ และเรื่องราวที่เจ้าของกรุผ้ามีความรัก หวงแหน และผูกพัน

     ทั้งนี้ผู้ดำเนินรายการเปิดการประมูลกรุผ้าโบราณในงานนี้ก็คือ อ.เผ่าทอง ทองเจือ กูรูด้านผ้าไทยและผู้มีความรู้เรื่องของเก่าโบราณและผ้าโบราณยิ่งกว่าใคร เพราะอาจารย์ยังเป็นนักสะสมผ้าโบราณตัวยง ชนิดที่หากเจอที่ไหนก็อดจะขอซื้อจากเจ้าของเก่ามาเก็บไว้ไม่ได้เช่นกัน บรรยากาศในการประมูลผ้าครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน คราใดที่เปิดตัวมาด้วยผ้าที่หาชมได้ยาก พร้อมเรื่องราวของผืนผ้าที่มีเรื่องเล่าซ่อนอยู่มากมาย เป็นเกร็ดความรู้ที่ทำให้งานเต็มไปด้วยกลิ่นอายของจิตวิญญาณในผืนผ้า ยิ่งกระตุ้นต่อมอยากได้มาเป็นเจ้าของของผู้ร่วมประมูลในงานจนทำให้ผ้าบางผืน ขยับราคาจากตอนเปิดตัวที่หลักพัน ไปหยุดอยู่ที่หลักแสนก็มี
     สำหรับผู้ร่วมชมในงาน นอกจากจะลุ้นกันหนักมาก ว่าผ้าโบราณผืนที่หยิบยกขึ้นมาประมูล ใครจะได้เป็นเจ้าของคนใหม่ ที่ยกมือสู้ราคากันอย่างดุเดือดแล้ว ยังมีรายการเบรกคั่นเวลาด้วยการแสดงขับร้องเพลงกาพย์เห่เรือ และเพลงฉ่อย จากครูมืด-ประสาท ทองอร่าม ศิลปินผู้เป็นเสาเอกด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยเรา ทำให้ยิ่งเพิ่มบรรยากาศแบบไทยเดิม ที่เข้าธีมผ้าไทยอย่างเต็มไปด้วยสีสันเพิ่มมากขึ้น
     ทั้งนี้ผ้าที่นำมาจัดประมูลจากนักสะสมที่แสนรักแสนหวงผ้าบางผืนยิ่งชีวิตนั้น คงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วทำไมถึงจึงต้องจัดประมูล ทั้งนี้นอกจากเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องผ้าไทยจากหลายๆ เจ้าของเก่าที่เข้าร่วมประมูลในงาน โดยวิทยากรคือ อาจารย์เผ่าทอง จะเล่าถึงเรื่องราวของผ้าทุกผืนก่อนเปิดให้ประมูลแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจากการประมูลครั้งนี้ ยังนำไปสนับสนุนช่วยเหลือครูช่างศิลปหัตถกรรมของไทยในหลายแขนง ซึ่งนับเป็นการต่อยอด เพิ่มพูนความรู้ให้ครูช่างศิลป์ของไทย ได้เกิดแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ผลงานชั้นครูไว้ประดับใต้ร่มพระบารมีฯ สืบต่อไป