ผู้ประกอบการ ปลื้ม “โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562” โดย สสว. สำเร็จ อย่างยั่งยืน
สสว. ประกาศความสำเร็จ
“โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562”
มีผู้ประกอบการเข้าร่วมถึง 10,050 ราย
สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 3,000 ล้านบาท
“โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562”
มีผู้ประกอบการเข้าร่วมถึง 10,050 ราย
สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 3,000 ล้านบาท
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการการใหม่ (SME Startup) กลุ่มผู้ประกอบการระยะพลิกฟื้นกิจการ (Turn around) และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ (SME Strong/Regular) ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ Strong/Regular ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีกว่า 600,000 ราย และในจำนวนนี้ มีจำนวนถึง 400,000 ราย ที่มีสถานะทางบัญชีปกติ ดังนั้น สสว. จึงเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่ม Strong/Regular และได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) มาตั้งแต่ปี 2559
“จากการเข้าไปดำเนินโครงการที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ โดยได้รับความรู้จากการเข้าร่วมอบรมเฉพาะด้าน จำนวน 30,000 ราย ได้รับการพัฒนาเชิงลึก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในด้านต่างๆ จำนวน 10,000 กิจการ มีการต่อยอดให้ผู้ประกอบการได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ISO, GMP, อย. อีก จำนวน 200 กิจการ จากการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2559 - 2561 โครงการนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมาแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท
นายสุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 สสว. ได้ดำเนินโครงการฯ สานต่อ โดยมุ่งให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 9,550 ราย และผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนาเชิงลึก ไม่ต่ำกว่า 2,850 กิจการ เน้นการสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานทั้งการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน และต่อยอด เพื่อให้ได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากลมากขึ้น”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังสนับสนุนกิจกรรมตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพได้ก้าวไกลไปสู่สากล มีการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการทางบัญชี (Service Provider) ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งเริ่มนำร่องโดยพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มบริการเพื่อสุขภาพแบบเจาะลึก โดยการศึกษาข้อมูลในทุกมิติ เน้นการพัฒนาเชิงลึกเฉพาะด้าน โดยเฉพาะต่อยอดด้านการตลาด ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะนำมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อๆ ไป และคาดว่า จะช่วยยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการในโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ให้ก้าวไปสู่การแข่งขันได้ในระดับสากล และเหมาะสมกับสภาวการณ์ของโลกได้อย่างแท้จริง”
ผอ.สสว. เล่าต่อไปถึงการพัฒนาว่า สสว. ได้ให้ความรู้ในด้านการดำเนินธุรกิจ และอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการทำธุรกิจ ด้านการทำบัญชีที่ถูกต้อง ภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ การจัดบริหารจัดการ การตลาด และเทคโนโลยี หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือสนับสนุนกิจกรรมทดสอบตลาดในและต่างประเทศ สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อจัดทำฉลากโภชนาการ สอบเทียบเครื่องมือวัด รวมไปถึง ให้ความสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานโดยการต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสาล เช่น มาตรฐาน ISO, HACCP ฯลฯ เป็นต้น
โดยมีหน่วยพันธมิตรร่วมดำเนินโครงการฯ ได้แก่ สถาบันอาหาร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สมาคมสำนักงานบัญชีไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับผลการพัฒนา โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 มีดังนี้ การอบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ จำนวน 10,050 ราย แบ่งเป็นให้ความรู้โดยการอบรมให้ความรู้ในด้านการดำเนินธุรกิจ จำนวน 7,750 ราย
นอกจากนี้ สสว. ยังให้ความสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน จำนวน 1,200 กิจการ อาทิ จัดทำฉลากโภชนาการ, การตรวจวิเคราะห์สินค้าปลอดภัยหรือสอบเทียบเครื่องมือวัด, การตรวจวิเคราะห์เพื่อประกอบการรับรองมาตรฐานเสื้อผ้าประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5, มาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านความปลอดภัย (S-Mark), ฉลากคุณภาพสิ่งทอ (Smart Fabric), การทดสอบทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.), มาตรฐานฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานโดยการต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสาล เช่น มาตรฐาน ISO, HACCP , GMP ฯลฯ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทดสอบตลาด และเจรจาการค้าในต่างประเทศ อาทิ ประเทศบาห์เรน, พม่า, ญี่ปุ่น
“ผลลัพธ์จากการพัฒนาเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและบริการ ยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของสากล รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพนี้ก้าวไปสู่สากล สามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 3,000 ล้านบาท” ผอ.สสว.กล่าว
ภายหลังจากนั้น ยังได้จัดให้มีการเสวนาจุดเปลี่ยนเพื่อความสำเร็จในหัวข้อ “พลิกโอกาส พิชิตชัยชนะ” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต SME Regular Level ร่วมแบ่งปันมุมมองจากประสบการณ์ กระทั่งการเสวนาจบลงด้วยความประทับใจ