ADS


Breaking News

ทั่วโลกรณรงค์ครั้งใหญ่ " เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยังยืน " Empower parents , enable breastfeeding

กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
WHO
และ
UNICEF
     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการลงทุนที่ดี และคุ้มค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของเด็ก ให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ตั้งแต่แรกเกิดอย่างดีที่สุด และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของแม่หลังคลอดแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศ ในด้านเศรษฐกิจจากการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และด้านสังคม จากคุณภาพของเด็กที่เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
     พ่อแม่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมพลังให้สามารถฝ่าฟันทุกข้อจำกัดในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ เริ่มต้นจากการเข้าใจความต้องการของแม่ตามบริบทที่แตกต่างกันไป การให้เกียรติและให้คุณค่าแก่สตรีในฐานะผู้ทำหน้าที่แม่ จะช่วยให้สังคมออกแบบวิธีการ มาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิลาคลอดเพื่อให้แม่มีเวลาพักฟื้นร่างกายและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเพียงพอ การกำหนดมาตรการมุมนมแม่เพื่อให้พนักงานหญิงมีที่สำหรับบีบเก็บน้ำนมเมื่อกลับมาทำงาน หรือแม้แต่การสร้างกลุ่มแม่ช่วยแม่ในชุมชน เป็นต้น
แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร
อธิบดีกรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข

     ในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญต่อลูกทุกคน คือ “วันแม่แห่งชาติ” และนานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปีเป็นสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week โดยในปีนี้ ร่วมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน”

     “นมแม่” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกชีวิต เพราะเป็นการวางรากฐานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่วัยทารก ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งกายและใจของเด็ก อีกทั้ง ลดการเสียชีวิตของมารดาและทารกหลังคลอด ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 230 ล้านบาทต่อปีด้วย ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล จากการสำรวจของ MICs  
     ล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 23.1 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน และยิ่งไปกว่านั้น มีเด็กเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึง 2 ปี
     ในความเป็นจริง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแม่เป็นหลัก แต่ความตั้งใจของแม่มักได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยแวดล้อมจำนวนมาก ตั้งแต่การสนับสนุนของคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชน บริบททางสังคม ดาราและผู้มีชื่อเสียง รวมถึง การได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสาธารณสุข แนวคิดสัปดาห์นมแม่โลกในปีนี้ จึงต้องการสื่อสารและเน้นย้ำไปถึงทุกคนในสังคมว่า เราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เด็กทุกคนกินนมแม่ได้สำเร็จ
     กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เราเล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีการกำหนดมาตรการและดำเนินงานเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย ดังนี้
     ด้านแรก การปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือ พ.ร.บ.นมผง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสม กรมอนามัยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แนวทางที่สำคัญ คือ การวางระบบเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การพิจารณาการกระทำผิด และการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุด
     ด้านที่สอง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แม่มีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้จัดบริการตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม่จะได้รับการดูแลและเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และกลับไปสู่ในชุมชน ในปีที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอบรมหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการสนับสนุนทุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในการอบรมพยาบาลวิชาชีพกว่า 50 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า แม่และครอบครัวจะได้รับการบริการจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จได้ 
   ด้านที่สาม การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นมาตรการที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง แม้ว่าแม่จะมีทัศนคติและการเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ปัจจุบันนี้ เหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ คือ แม่ต้องกลับไปทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงมีนโยบายการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการขึ้น เพื่อให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ และกรมอนามัยได้ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งมุมนมแม่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในกรณีแม่ต้องกลับไปทำงานและอยู่ห่างไกลลูก ศูนย์อนามัยที่ 7 มีการขับเคลื่อนโครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นการเปิดรับนมแม่แช่แข็งจากทั่วประเทศและจัดส่งให้กับลูกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบธุรกิจขนส่งในพื้นที่ ได้แก่ บริษัท ก.เกียรติชัยพัฒนาขนส่งจำกัด บริษัทภูเขียวขนส่งจำกัด บริษัทชาญทัวร์จำกัด และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งผู้แทนของทุกหน่วยงานที่สนับสนุนได้มาร่วมในงานแถลงข่าววันนี้ด้วย
คนไทยควรจะได้รับรู้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความสำคัญอย่างไร และเราจะช่วยให้แม่มีพลังกายพลังใจ ฝ่าฟันข้อจำกัดและอุปสรรคอย่างไร เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ “นมแม่” เป็นเรื่องธรรมชาติที่แม่และเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกเหนือจากการดำเนินการตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขในการทำหน้าที่พยาบาลนมแม่ มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคมด้านอื่นๆ ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ทุกคนและทุกองค์กรในสังคมจะร่วมมือกันสนับสนุนแม่และครอบครัว ให้ได้รับการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลักดันให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยประสบความสำเร็จ เพื่อวางรากฐานให้แก่ทุกชีวิตที่เกิดมาได้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ 
Dr. Renu Garg :
Medical Officer-NCD
ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO)

     ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ ร่วมกันรณรงค์เรื่องความสำคัญของนโยบายที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และช่วยพ่อแม่ในการเลี้ยงดูและผูกพันกับเด็กในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก

  • องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ แนะนำให้เริ่มการให้นมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด
  • ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน
  • ให้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยเมื่ออายุได้ 6 เดือน
     หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดถึงประโยชน์ของนมแม่
  • นมแม่นั้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของทารก โดยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในช่วงวัยเด็ก และป้องกันภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน และอ้วนในช่วงวัยต่อไปของชีวิต
  • นมแม่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของสมอง และการเรียนรู้ของเด็ก
  • นมแม่ยังมีประโยชน์ต่อแม่ที่ให้นมบุตร โดยช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจอีกด้วย
     ประโยชน์ของนมแม่ในเชิงเศรษฐกิจ
  • ค่าประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจของการที่เด็กไม่ได้รับนมแม่ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณสามแสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • สำหรับประเทศไทย มีการประมาณว่า หากเด็กไทยทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ จะสามารถรักษาชีวิตเด็ก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง และปอดบวมไปได้ถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (228 ล้านบาท) ต่อปี
  • ความท้าทายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทย
  • อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของประเทศไทยนั้นต่ำมาก
  • เด็กทารกในช่วง 6 เดือนแรกได้รับนมแม่อย่างเดียวไม่ถึง ร้อยละ 25 
  • เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเซียใต้และตะวันออก
  • ความท้าทายของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายระดับโลก ในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว6เดือน ให้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2568
    รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • การออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 นั้นถือเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทย
  • ทั้งนี้ การจัดทำยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนพรบ. และการวางกลไกในการดำเนินงานก็เป็นสิ่งสำคัญจะช่วยให้เกิดการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
     เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน
  • นโยบายที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นการลงทุนด้านสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคตของเด็ก แม่ และประเทศชาติ
  • ขอให้รัฐบาล และนายจ้างทุกท่านพิจารณาดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งรวมถึง การให้สิทธิลาคลอดบุตร และเลี้ยงดูบุตรแบบจ่ายเงินเดือน อย่างต่ำ 18 สัปดาห์ หรือ ถึง 6 เดือนถ้าเป็นไปได้
     องค์การอนามัยโลกขอร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสนับสนุนให้มีนโยบายและกลไกเพื่อเสริมพลังพ่อแม่ ให้สามารถให้นมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และให้นมแม่ต่อเนื่องพร้อมอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ขวบ

Mr. Hugh Delaney
Chief of Education
(หัวหน้าฝ่ายการศึกษา)
ผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่ง สหประชาชาติประจำประเทศไทย
(Unicef) 

     “องค์การยูนิเซฟแนะนำให้เด็กทุกคนกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดและมีภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบัน มีเด็กในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยมที่มักให้อาหารกึ่งเหลวกับเด็กทารกก่อน 6 เดือน หรือพ่อแม่บางคนยังมีความเข้าใจผิดว่าลูกหิวน้ำ หรือต้องการล้างปากเด็ก คุณแม่บางท่านอาจกังวลเรื่องคุณภาพนมของตนหรือคิดว่านมไม่พอ นอกจากนั้น คุณแม่จำนวนมากยังขาดแรงสนับสนุนจากที่ทำงานเรื่องการให้สิทธิการลา หรือเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เหมาะสมให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้”
    นายเดลานี กล่าวเสริมว่า เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานประกอบการช่วยกันสนับสนุน “นมแม่” โดยจัดให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly policies) เช่น การส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัวที่มีลูกเล็ก การสร้างมุมหรือห้องนมแม่ ตลอดจนนโยบายที่ให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ระหว่างเวลาทำงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานที่มีลูกสามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นและสร้างสมดุลในชีวิตในช่วงที่ลูกยังเล็ก เพราะหากแม่ขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวและที่ทำงานแล้ว แม่ก็จะขาดพลังและกำลังใจและหยุดให้นมลูกในที่สุด
    แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ
ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

     การที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ คุณพ่อ คุณแม่และครอบครัว ตลอดจนชุมชน สามารถช่วยกันดูแลให้เกิดขึ้น เด็กที่กินนมแม่มีภาวะโภชนาการที่ดี มีภูมิต้านทานช่วยในการป้องกันโรค ลดภูมิแพ้โปรตีนจากนมวัว และการกินนมแม่ยังช่วยสร้างความผูกพัน เกิดการเรียนรู้ระหว่างแม่กับลูกผ่านการโอบกอด สัมผัส ในช่วงระยะเวลาที่ลูกได้กินนมแม่
     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่แม่จะให้ลูกได้และถือเป็นของขวัญชิ้นแรก เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำได้สำเร็จ  ช่วงที่ลูกได้กินนมแม่ เป็นช่วงที่แม่ลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความสุขไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอด การที่ลูกได้นอนบนอกแม่ และดูดนมทันทีหลังคลอด หรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนสำเร็จ
     การดำเนินงานของศูนย์นมแม่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการเสริมพลังให้กับแม่ ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้การช่วยเหลือดูแล ในกรณีที่แม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จวบจนแม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ มีการจัดตั้งกลุ่มอาสา โดยการนำคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จที่มีจิตอาสา มาเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือคุณแม่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดย “แม่ช่วยแม่” และอีกช่องทางหนึ่ง คือ ทางมูลนิธิฯ มีเว็ปไซต์เพื่อการสื่อสารข้อมูลวิชาการต่างๆให้สำหรับคุณแม่ที่สนใจหรือมีปัญหา ข้อสงสัย สามารถเข้ามาเยี่ยมชม หาความรู้ได้ หรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
     อีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ทำงาน ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนประสบความสำเร็จ  โดยมีสถานที่ บีบเก็บน้ำนมเพื่อความสะดวกและเป็นสัดเป็นส่วน และกิจกรรมที่สำคัญ คือ การสร้างความรู้ ทักษะ ให้บุคลากรทางการสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล  ให้มีความรู้ ทักษะ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่อยู่ในสถาบันการศึกษา เมื่อจบออกมา มีความพร้อมที่สามารถช่วยเหลือแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่อยากจะสื่อสาร คือ 1-6-2  1= การให้ลูกได้กินนมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด 6= กินนมแม่นนานอย่างเดียว 6 เดือน และ 2= กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึง 2ปี หรือนานกว่านั้น โดยการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจตั้งแต่ในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดความตะหนัก เพราะการที่แม่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นชุมชนมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือแม่อย่างยิ่ง
หมายเหตุ

     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการลงทุนที่ดีและคุ้มค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของเด็กให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัยตั้งแต่แรกเกิดอย่างดีที่สุด และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของแม่หลังคลอดแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจจากการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และด้านสังคมจากคุณภาพของเด็กที่เติบโตอย่าง  เต็มศักยภาพ

     ปัจจุบันนี้แม้มีทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจำนวนมาก แต่มีเพียงร้อยละ 40 ของทารกทั่วโลก  ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และมีเพียงร้อยละ 45 ที่มีโอกาสได้กินนมแม่นานต่อเนื่องถึงอย่างน้อย 2 ปี ถ้าหากทุกประเทศช่วยให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเหมาะสมตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้เด็กทุกคนกินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนและกิน    นมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น จะช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้มากกว่า 823,000 คน และลดการเสียชีวิตของแม่หลังคลอดได้มากกว่า 20,000 คนต่อปี นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าการไม่ได้กิน  นมแม่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึงประมาณ 9 ล้านล้านบาทต่อปี (302 billion USD) (1)
ในปีพ.ศ. 2555 ทุกประเทศทั่วโลกจึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ร่วมกันว่าจะช่วยให้เด็กอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตภายในปี พ.ศ. 2568 การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือกันกำหนดนโยบายที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องแม่ และครอบครัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้นมลูก แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะถือเป็นการตัดสินใจของแม่เป็นหลัก แต่แรงสนับสนุนจากสามี ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านและคนในสังคมเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ช่วยผลักดันให้แม่สามารถตัดสินใจและฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเองได้
     พ่อแม่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมพลังให้สามารถฝ่าฟันทุกข้อจำกัดในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ เริ่มต้นจากการเข้าใจความต้องการของแม่ตามบริบทที่แตกต่างกันไป การให้เกียรติและให้คุณค่าแก่สตรีในฐานะผู้ทำหน้าที่แม่ จะช่วยให้สังคมออกแบบวิธีการ มาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิลาคลอดเพื่อให้แม่มีเวลาพักฟื้นร่างกายและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเพียงพอ การกำหนดมาตรการมุมนมแม่เพื่อให้พนักงานหญิงมีที่สำหรับบีบเก็บน้ำนมเมื่อกลับมาทำงาน หรือแม้แต่การสร้างกลุ่มแม่ช่วยแม่ในชุมชน เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัปดาห์นมแม่โลก

Inform เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับการช่วยส่งเสริมสนับสนุนและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Anchor เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและค่านิยมในสังคมที่เอื้อเฟื้อต่อทุกครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Engage เพื่อให้ทุกคน ทุกหน่วยงานและองค์กรได้มีส่วนร่วมต่อการผลักดันเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Galvanise เพื่อสร้างมาตรการจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดียิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

     เสริมพลังพ่อแม่ ด้วยสิทธิการลาคลอด
     งานวิจัยพบว่า การให้แม่ได้รับสิทธิลาคลอดโดยยังได้รับเงินเดือนระหว่างช่วงที่ลาคลอดนั้น ทุกวันลาที่เพิ่มมากขึ้น 1 เดือน ช่วยลดโอกาสการตายของทารกลงได้ 13% (2) การให้สิทธิลาคลอดช่วยให้  แม่หลังคลอดมีเวลาดูแลตัวเองและฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ให้แข็งแรง และมี ความพร้อมในการกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งตัวแม่และที่ทำงาน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (3)  นอกจากนี้ หากคุณพ่อได้รับสิทธิลาหลังจากลูกคลอด ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนคุณแม่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการช่วยเลี้ยงดูลูก ช่วยให้กำลังใจ ช่วยดูแลคุณแม่ให้แข็งแรงเพื่อให้ นมลูก และยังคอยแก้ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
     จากการศึกษาวิจัยพบว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการให้สิทธิลาคลอดแก่แม่ แต่มีเพียง 78 ประเทศที่มีการให้สิทธิการลาสำหรับพ่อ และมีเพียง 66 ประเทศที่มีการให้สิทธิลาคลอดแก่ทั้งพ่อและแม่ องค์การอนามัยโลกได้ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ขยายสิทธิการลาคลอดให้ถึง 6 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมช่วงเวลาที่ทารกต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบัน ประเทศไทยให้สิทธิแรงงานหญิงสามารถ  ลาคลอดได้ 14 สัปดาห์ ส่วนสิทธิพ่อลาคลอดมีเพียงกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างของราชการที่ลาได้ 15 วัน
     ข้อจำกัดของการเลี้ยงดูและให้นมลูกนั้น ขึ้นกับปัจจัยทางสังคมจำนวนมาก ดังนั้น ในการ “เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อให้นมแม่ยั่งยืน” ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนและเรียกร้องให้มีการดำเนินนโยบายทางสังคมเพื่อปกป้องสิทธิของครอบครัว เพื่อให้เกิดสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อการเป็นพ่อแม่ และเกิดค่านิยมทางสังคมที่เอื้อเฟื้อต่อการทำหน้าที่พ่อแม่  เพราะหากคนในสังคมสามารถเข้าใจและช่วยสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้พ่อแม่สามารถบริหารจัดการชีวิตและเวลาเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็มีเวลาเพียงพอในการดูแลลูกและดูแลตัวเอง โดยเฉพาะให้แม่มีเวลาอยู่กับลูก มีเวลาให้นมลูกจากเต้าที่บ้านและบีบเก็บน้ำนมให้ลูกขณะมาทำงาน

Take Action เราจะช่วยกันทำอะไรได้บ้าง
     ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานของรัฐ

  1. กำหนดนโยบายตามข้อแนะนำสากลเรื่องการส่งเสริมให้สถานที่ทำงาน มีมาตรการที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ การจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก  เป็นต้น
  2. จัดสรรให้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  3. ประกาศให้สิทธิการลาคลอดแก่แม่อย่างเพียงพอเพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เต็มที่ และให้สิทธิการลาคลอดแก่พ่อและคนในครอบครัวเพื่อให้ช่วยสนับสนุนแม่ในการดูแลลูก
  4. ติดตามและประเมินผลนโยบายหรือมาตรการที่ออกมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุน และปกป้องการ  เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างมีประสิทธิภาพ
Advocate ภาคประชาสังคม
  1. สร้างเครือข่ายสำหรับแม่และครอบครัว เชื่อมโยงกับกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดสังคมที่ช่วยเหลือกันในการให้ความรู้ คำแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาเรื่อง นมแม่
  2. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ในการติดตามสถานการณ์ ผลการออกมาตรการหรือกฎระเบียบต่างๆ และสะท้อนข้อมูลให้แก่หน่วยงานรัฐเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงาน
  3. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ นายทุน และนายจ้างในการกำหนดนโยบายของสถานประกอบการให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  4. เรียกร้องให้สถานประกอบการมีการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานหญิง เช่น การจัดมุม นมแม่ การจัดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงาน เป็นต้น
Parents พ่อแม่
  1. หาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข คลินิกนมแม่ของโรงพยาบาล ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์เพื่อเตรียมความพร้อม และปรึกษาสมาชิกในครอบครัวเพื่อตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกัน เพื่อให้สมาชิกทุกคนช่วยสนับสนุนคุณแม่ได้
  2. เข้าร่วมกลุ่มแม่หรือกลุ่มเพื่อนในที่ทำงาน ในชุมชน หรือในสังคมออนไลน์ที่เชื่อถือได้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้คำปรึกษา
  3. ใช้เวลาระหว่างลาคลอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการให้นมลูกจากเต้าอย่างเต็มที่ และการเตรียมบีบเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้เพียงพอก่อนกลับไปทำงาน
  4. ขอให้สถานที่ทำงานมีการจัดสวัสดิการเพื่อสนับสนุนการบีบเก็บน้ำนมต่อเนื่อง และช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือการทำหน้าที่พ่อแม่ของเพื่อนร่วมงานที่กำลังจะมีลูกในรุ่นต่อไป

“ ช่วยกันเสริมสร้างพลังพ่อแม่
เพื่อให้นมแม่ยั่งยืน
ช่วยกันสร้างเด็กคุณภาพในวันนี้
เพื่อเป็นกำลังสำคัญในวันข้างหน้า 

     ที่มาของข้อมูล : Empower parents, enable breastfeeding : www.worldbreastfeedingweek.org
     ผู้แปลเอกสารและเรียบเรียงเนื้อหา : พญ.ชมพูนุท  โตโพธิ์ไทย  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ
นางนภัทร  พิศาลบุตร  องค์การทุนเพื่อเด็กสหประชาชาติประเทศไทย

ACTION FOLDER REFERENCES
INTRODUCTION


  1. Rollins, N. C., Bhandari, N., Hajeebhoy, N., Horton, S., Lutter, C. K., Martines, J. C., Piwoz, E. G., Richter, L. M., Victora, C. G. (2016). Why invest, and what it will take to improve reastfeeding practices? The Lancet, 387(10017), 491-504
  2. Nandi, A., Hajizadeh, M., Harper, S., Koski, A., Strumpf, E. C., & Heymann, J. (2016). Increased duration of paid maternity leave lowers infant mortality in low- and middle-income countries: A quasi-experimental study. PLoS Medicine,13(3): e1001985
  3. Heymann, J., Sprague, A. R., Nandi, A., Earle, A., Batra, P., Schickedanz, A., Chung, P. J., Raub, A. (2017). Paid parental leave and family wellbeing in the sustainable development era. Public Health Reviews, 38(1): 21