ADS


Breaking News

พพ. ยกต้นแบบ โซลาร์รูฟ บ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ คุ้มค่า ลดค่าไฟได้จริง

     พพ. ชูเคส บ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่
     เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนค่าไฟฟ้ากว่า 12% ต่อปี
     พพ.จัดสื่อสัญจรศึกษาความสำเร็จเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ 1 เมกะวัตต์  ของบริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) จ.ชลบุรี โชว์ประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในโรงงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้ากว่า 12% ต่อปี
     นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยวันนี้  (8 สิงหาคม 2562) ว่า พพ. ได้นำคณะสื่อมวลชนสัญจรมาศึกษาความสำเร็จโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอาคารของ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์เพื่อการส่งออกรายใหญ่ของประเทศ
     ที่ได้ลงทุนติดตั้งโซลารูฟท็อปขนาดกำลังการผลิตประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ (kWp) หรือ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ ภาคตะวันออกที่มีการติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ขนาด ประมาณ 5,800 ตารางเมตร ส่งผลให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
     บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 โดยการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนหลังคา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานภายในโรงงานรูปแบบผลิตไฟฟ้าใช้เองในช่วงเวลากลางวัน ช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในโรงงานในช่วงพีค หรือ ช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน ซึ่งมีราคาค่าไฟฟ้าที่สูง ทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 5 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 12% จากเดิมที่มีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว อยู่ที่ 42 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจากการประเมินการลงทุนโครงการดังกล่าวของบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปี
     ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนจากนโยบายโซลาร์รูฟเสรี ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของกระทรวงพลังงาน 
     “ด้วยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ พพ.และกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในสถานประกอบการ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในสถานประกอบการ สำนักงาน อาคารธุรกิจ เพื่อการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้เพิ่มมากขึ้น” นายยงยุทธ์ กล่าว 
    นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น. ดี. รับเบอร์จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่าทิศทางของราคาการติดตั้งแผงโซลาร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาราคาได้ปรับลดลงจากระดับ กว่า 150,000 บาท/กิโลวัตต์ ลงเหลือ 30,000 บาท/กิโลวัตต์ โดยจะเห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน และยังส่งผลดีต่อการยืดระยะเวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง