ADS


Breaking News

ที่สุดแห่งงานโอท็อปอยุธยา WISDOM GROWN TO ASEAN ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน

     จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเดินหน้าผลักดันสินค้า OTOP สู่อาเซียนหลังยอดขยายตัวผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ขยายตัวต่อเนื่องมีกว่า 1,400 รายในปี 62 จับจุดขยายช่องทางตลาดกระตุ้นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รุกกระแสโลกเปลี่ยน หันใช้ออนไลน์เป็นกลยุทธ์ค้าขาย แจงปีที่ผ่านมาสินค้าที่ค้าขายผ่านระบบออนไลน์มีมากกว่า 3.3 ล้านล้านรายการ ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว พร้อมเปิดโครงการพัฒนาต้นแบบ สร้าง 30 ต้นแบบโอท็อปขายออนไลน์ ออฟไลน์ ในโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN " ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน "  จัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม ที่ เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ บางปะอิน คาดสร้างรายได้โอท็อปอยุธยาเพิ่มขึ้น 23% ในปีนี้
     นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ดำเนินโครงการมาต่อเนื่องว่า สินค้าโอท็อป  ผลิตภัณฑ์ชุมชน ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความหลากหลาย  เพราะจังหวัดมีถึง 16 อำเภอ 200 ตำบล  แนวคิดพัฒนาสินค้าโอท็อปเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหลายตัว อาทิ มีดอรัญญิก  ช้อนสเตนเลส  การทำผลิตภัณฑ์ปลาตะเพียน  ผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวา อาหารต่างๆเยอะมาก ที่มีการพัฒนาต่อยอดมาต่อเนื่อง  ทั้งการพัฒนาโปรดักส์  แพจเกจจิ้ง การพัฒนาคุณภาพของสินค้า การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งการประกวดผลิตภัณฑ์ในจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล 
     การขยายตัวของผู้ประกอบการโอท็อปในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561มีการลงทะเบียนผู้ผลิต  ผู้ประกอบการโอท็อป ประเภทกลุ่มและเดี่ยวจำนวน 1,285 ราย เป็นจำนวนผลิตภัณฑ์ 2,566 ผลิตภัณฑ์  และในปี 2562 มีจำนวนกว่า 1,400 ราย และจากที่ได้เปิดโครงการ ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” จะส่งผลดีให้ผู้ประกอบการขยายฐานลูกค้าในการทำตลาดเพิ่ม  และส่งผลดีต่อยอดขายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อปเพิ่มขึ้นกว่า 23 %
สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม ที่ เออีซี  เทรด เซ็นเตอร์ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งด้านสินค้าและการขยายช่องทางการตลาด  สอดรับกระแสโลกการค้า ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาท ของ  Ecommerce  ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ตอบสนองทั้งในส่วนของ online  และ  offline  สามารถแข่งขันทางการค้า ให้สินค้าโอท็อปสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดอาเซียนได้  


คุณสุวรรณา ตรีสิทธิเดช
พัฒนาการจังหวัด
พระนครศรีอยุธยา
จังหวัดต้องการพัฒนาผู้ค้าให้มีความเข้าใจถึงการเติบโตของตลาดออนไลน์ และได้เข้าถึงเครื่องมือในการทำการตลาด และเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าภูมิปัญญาไทย ได้เผยแพร่ไปสู่ตลาดต่างประเทศได้   จึงได้จัดงาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” ในงานมีกิจกรรมจัดอบรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป และมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์โอท็อปจำนวน 100 ผลิตภัณฑ์ให้เหลือ 30 ผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาพัฒนาสร้างความเข็มแข็ง   ขึ้นสู่ตลาดออฟไลน์ และออนไลน์  สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มองเห็นความแตกต่าง  การที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มกว่า 100 คน 100 สินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป   ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับการคัดเลือก หรือไม่ได้คัดเลือก   อย่างน้อยจะได้รู้ความแตกต่าง จากการเปรียบเทียบ  และเอากลับไปวิเคราะห์ศักยภาพสินค้าและพัฒนาต่อได้อย่างมีแนวทาง
     งานนี้ผู้ประกอบการยังได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่าการออกงานเพื่อขายสินค้าปกติทั่วไป   เพราะโลกเปลี่ยน  รูปแบบการขายต้องมีหลากหลายช่องทางมาก   วันนี้สินค้าออนไลน์ในประเทศกว่า 3.3 ล้านล้านรายการ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา   เป็นสินค้าที่ผ่านระบบออนไลน์ต่างประเทศถึง 2.2 ล้านล้านรายการ  ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้พัฒนาดังที่โครงการดำเนินการนี้  จะช่วยให้ผู้ประกอบการนำความรู้ไปพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น  กลุ่มที่ได้รับการคัดสรรก็จะได้รับความรู้ โนฮาวมากขึ้น มีการพัฒนาหน้าร้านออนไลน์ ได้ทดลองตลาด อนาคตจะมีการพัฒนาให้เกิดความแข็งแรงยิ่งขึ้น 

      นางสาวสุวรรณา ตรีสิทธิเดช  พัฒนาการจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พช.) จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า  " โครงการนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากผู้ว่าราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อปของจังหวัดฯ ให้สามารถขยายตลาดออกไปสู่ภายนอก ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อป ที่มีศักยภาพสามารถจะก้าวไกลไปสู่ระดับสากลได้ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกหลากหลายด้าน อาทิ ศิลปะ วัฒนธรรม และอาหาร เพราะฉะนั้นโครงการฯนี้ จึงเป็นที่รวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อปของจังหวัดฯทั้งหมด 16 อำเภอ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจหลากหลายแตกต่างกัน ขณะที่กิจกรรมครั้งนี้ ได้คัดเลือกผู้ประกอบการฯ ให้เข้ามาแสดงผลงาน เพียง 100 รายเท่านั้น และหลังจากวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 จะคัดให้เหลือเพียง 30 ราย เพื่อนำผลงานสินค้าไปจัดแสดง และจำหน่าย ณ ศูนย์การค้าเอเซียทีค เดอะ รีเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน ที่แวะเวียนกันมาวันหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 40,000 คน จึงเป็นโอกาสให้สินค้าโอท็อปจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ออกสู่สายตาอาเซียนในระดับสากลมากขึ้น
     นอกจากนี้ ตลาดที่รองรับสินค้าโอท็อป ต่อไปยังจะจำหน่ายที่ตลาดต่อยอด สำหรับช่องทางตลาดออนไลน์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ปัจจุบันมีเวบไซต์ ​www.otop​today.com ของพช. และเวบไซต์ของตลาดต่อยอด www.taradtoryod.com ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกันและเชื่อมโยงกับเวบไซต์ระดับจังหวัดทั่วประเทศในอนาคต "
    สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรมนี้ ได้มีการเปิดรับสมัครผลิตภัณฑ์โอท็อป เข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 26 กรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา และไปอบรมกันต่อที่สํานักงาน เออีซี  เทรดเซ็นเตอร์ อาคาร 1 ชั้น 5  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 31 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2562 โดยงานจะมีกิจกรรม  การพัฒนาความรู้ความเข้าใจ  การวางรากฐานพัฒนาต่างๆ พร้อมคําแนะนํา  ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าสู่ช่องทางแบบออนไลน์ และ สร้างหน้าร้านออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และ ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากตลาดอาเซียน ก่อนเพื่อเป็นโครงการนำร่อง หลังจากคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การคัดสรร เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนา 30 ราย เพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เปิดหน้าร้านออนไลน์ เพื่อรับออเดอร์การสั่งซื้อ อย่างเต็มรูปแบบ และเข้าสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป