ADS


Breaking News

ซีอีโอแห่ยกระดับทักษะแรงงานในองค์กร หวังปิดช่องว่างทางทักษะพร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมและความไว้วางใจ

กรุงเทพฯ, 15 กรกฎาคม 2562 PwC เผยซีอีโอทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้กับแรงงาน แทนที่การเฟ้นหาทาเลนท์จากภายนอกอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะ พร้อมเสริมสร้างนวัตกรรมและความไว้วางใจของสาธารณชน ชี้องค์กรไทยประสบปัญหานี้ ไม่ต่างจากองค์กรทั่วโลก และเริ่มหันมาลงทุนด้านระบบบริหารทรัพยากรบุคคลและพัฒนาทักษะแรงงานเดิมมากขึ้น เพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างไร้รอยต่อ
นางสาว ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Talent Trends 2019: Upskilling for a Digital World ของ PwC ว่า 79% ของซีอีโอทั่วโลกที่ถูกสำรวจในปีนี้ แสดงความกังวลว่า การขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานภายในองค์กร กำลังเป็นภัยคุกคามที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต เปรียบเทียบกับ 63% ในปี 2557 ซึ่งนี่เป็นข้อยืนยันว่า ความกังวลเกี่ยวกับทักษะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นประเด็นความกังวลของผู้บริหารในทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น (95%) และยุโรปกลางและตะวันออก (89%) แสดงความกังวลในประเด็นนี้มากที่สุด ในขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี (55%) และตุรกี (45%) มีความกังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม 55% ของบรรดาซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% กล่าวว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้
การเพิ่มพูนทักษะใหม่และเสริมสร้างทักษะเดิมที่มีอยู่กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก 
ผลสำรวจพบว่า ซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่ง (46%) ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการความคิดริเริ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่กล่าวว่า จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่า ซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก (Gig economy worker)
นางสาว แครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation ของ PwC สหราชอาณาจักร กล่าวว่า 
“แม้ว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ให้กับพนักงานจะต้องอาศัยการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกปลด และต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ มองว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า” 
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงาน ยังเป็นที่ต้องการของพนักงานด้วย โดยผลจากการสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 รายพบว่า พนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง
ปรับสมดุลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน และสร้างความไว้วางใจ
ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า การหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะใหม่นั้น เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นของการใช้ระบบออโตเมชันและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence: AI) โดยแม้ว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่พนักงานบางตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดเห็นของซีอีโอกลับแตกต่างกันไปตามขนาดและความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นๆ
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่พบจากผลสำรวจคือ การลงทุนในการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต (Workforce of the future) เพราะการจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการมีทักษะใหม่ๆ ต้องอาศัยการมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กรที่แข็งแกร่ง ที่ถูกผนวกเข้าไปกับสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพสูงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
“นายจ้างต้องเติมเต็มความต้องการของการสร้าง ‘ผลงานที่ดี’ ให้เพิ่มขึ้น โดยต้องสร้างประสบการณ์ที่เติมเต็มและมีคุณค่าสูงให้กับพนักงาน ซึ่งแม้เทคโนโลยีจะนำมาซึ่งโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารต้นทุน แต่ก็นำมาซึ่งโอกาสในการทำให้ชีวิตการทำงานมีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้นด้วย” นางสาว แครอล กล่าว
ฉะนั้นในการที่องค์กรจะสร้างผลงานที่ดีได้ จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวกับแรงงานที่มีคุณภาพสูง โดยในขณะที่ 86% ของซีอีโอกล่าวว่า ข้อมูลของคนที่ถูกต้องมีความสำคัญ แต่ผลสำรวจพบว่า มีเพียง 29% เท่านั้นที่เชื่อว่า ข้อมูลที่พวกเขาได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้ว
ซีอีโอยังตระหนักว่า ผลกระทบของระบบออโตเมชันต่อแรงงานภายในองค์กรนั้น มีผลต่อการสร้างความไว้วางใจของสาธารณชน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การขาดความไว้วางใจในธุรกิจ ถือเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตขององค์กร และพวกเขารู้ว่า วิธีที่พวกเขาใช้จัดการกับระบบออโตเมชันจะเป็นบททดสอบความไว้วางใจของสาธารณชน
ซึ่งในประเด็นนี้ ซีอีโอยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงความรับผิดชอบต่อการถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันและเอไอของพนักงานว่าควรตกเป็นของใคร โดย 66% ของซีอีโอเชื่อว่า รัฐบาลควรจัดให้มีสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เอไอ ในขณะที่ 56% คิดว่า รัฐบาลควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพนักงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งประเด็นนี้ยังมีข้อที่ต้องถกเถียงอีกมาก
ด้านนาย ภูชาน เสธิ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า 
“รูปแบบของสถานที่ทำงานกำลังถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่มีอยู่มานานหลายสิบปี และกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีจุดสิ้นสุดที่แน่นอน ดังนั้น องค์กรจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเดินไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงการสร้างและคงไว้ซึ่งความไว้วางใจ อันจะเป็นกุญแจสำคัญทั้งต่อตัวพนักงานเอง และภาครัฐ รวมไปถึงสังคมโดยรวมด้วย”
คำแนะนำ 5 ข้อสำหรับซีอีโอ
  1. ปรับปรุงการวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงาน
  2. ผู้นำธุรกิจต้องสื่อสารถึงกลยุทธ์ในการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงานได้อย่างชัดเจนขึ้น และต้องชี้แจงได้ว่าแท้จริงแล้ว การปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ มีความหมายสำหรับพนักงานของพวกเขาอย่างไร
  3. การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก จะมีความสำคัญไม่แพ้กัน
  4. การปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงานเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรที่คนต้องการทำงานด้วย
  5. ต้องมีแนวทางใหม่ๆ ในการบริหารสถานที่ทำงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานที่ทำงาน
ด้านนางสาว ภิรตา กล่าวเสริมว่า องค์กรไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัลเช่นเดียวกับองค์กรทั่วโลก โดยทาเลนท์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการมาก แต่อย่างไรก็ดี หลายๆ บริษัทในประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ ส่วนใหญ่หันมาลงทุนด้านบุคลากรมากขึ้นโดยมีการนำระบบบริหารจัดการบุคลากรเข้ามาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลขององค์กร นอกจากนี้ บริษัทไทยหลายรายยังมุ่งเน้นในการจัดโปรแกรมฝึกอบรมการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานมากขึ้นด้วย เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะและลดความกังวลของพนักงานในการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี 


เกี่ยวกับรายงาน
รายงาน Talent Trends 2019: Upskilling for a Digital World เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Annual Global CEO ครั้งที่ 22 ของ PwC โดยทำการสัมภาษณ์ซีอีโอจำนวน 3,200 รายในกว่า 90 เขตการปกครองทั่วโลก ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับนี้ได้ที่ https://www.pwc.com/talent-trends-ceo-survey 


เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th 
เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศ


PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.


© 2019 PwC. All rights reserved