สสว. สรุปนโยบายส่งเสริม SME อาเซียนเข้าสู่ระบบ ต่อยอดเอสเอ็มอีไทยสู่เวทีโลก
สสว. จัดประชุมหาข้อสรุป
ผลักดันนโยบาย ส่งเสริม
SME อาเซียนเข้าสู่ระบบ
ต่อเวทีประชุม สุดยอดอาเซียน
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุม Policy Dialogue on Formalization of Micro Enterprises ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-Operation and Development – OECD) จัดประชุมเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวนโยบายเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ระบบของผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน (Policy Dialogue Formalization of Micro Enterprises) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานส่งเสริม SMEs ใน 10 ประเทศอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน หน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยววชาญจากประเทศต่างๆ ทั้ง OECD อินเดีย สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการสำรวจและระบบส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดีที่สุดในโลกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสร้างแรงจูงใจและการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ข้อมูลและผลสรุปจากการประชุมจะใช้ประกอบการจัดทำ Policy Guideline on Digitalization of ASEAN Micro Enterprises เพื่อเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting: AEM) เพื่อให้การรับรองในเดือนกันยายน 2562 และเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562
“หากสามารถดำเนินนโยบายร่วมกันได้จะช่วยให้ภาครัฐสามารถพัฒนาศักยภาพสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการภาครัฐต่างๆ เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและเข้าสู่ตลาดสากล นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เติบโตได้ภายใต้บริบทการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ยังเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญให้แก่ประเทศอาเซียนอีกด้วย” นายสุวรรณชัย กล่าว
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนกิจการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (SMEs) ในอาเซียนมากกว่า 88% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาเซียนมากกว่าร้อยละ 30-53 ของ GDP ในแต่ละประเทศ สร้างการจ้างงานถึงร้อยละ 51 – 97 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวม SMEs ที่อยู่นอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอาเซียนเกือบทุกประเทศต้องการแก้ไขปัญหาและใช้ความพยายามอย่างมากด้วยการเร่งพัฒนาระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การจัดหน่วยงานให้บริการความช่วยเหลือที่ครบถ้วน การมีสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ SMEs เข้าสู่ระบบ
ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้น ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพ ในวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง
ช่วงเช้าประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การเรียนรู้คุณลักษณะร่วมของ SMEs นอกระบบในภาพกว้างเพื่อเป็นข้อมูลกำหนดนโยบาย และช่วงที่ 2 เรียนรู้แนวนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ (Best Practices) ของแต่ละประเทศ ใน 3 ประเด็น คือ (1) สิ่งจูงใจ (incentive) ให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ (2) การใช้ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ระบบ (Digitalization) สำหรับประเด็นที่ (3) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Law Enforcement) ที่ภาครัฐในประเทศต่างๆ ใช้สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ จะดำเนินการในช่วงบ่าย ต่อด้วย ช่วงที่ 3 การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเรียนรู้แนวทางที่เหมาะสมของอาเซียนในใน 3 ด้าน คือ สิ่งจูงใจ การใช้ดิจิทัลเพื่อส่งเสริม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปิดท้ายด้วย ช่วงที่ 4 ร่วมกันกำหนดแนวนโยบายที่เหมาะสมกับอาเซียนในการส่งเสริม SMEs เข้าสู่ระบบ
บทบาท สสว. เกี่ยวกับการประชุมอาเซียน
สสว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานไทยที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นประธาน (ASEAN Charimanship) การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ โดยดำเนินการภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (Digitalization of ASEAN Micro Enterprises)”
บทบาทของ สสว. ภายใต้หัวข้อดังกล่าว มุ่งเน้นใน 2 ส่วน คือ (1) การใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ (Digitalization) (issue) เนื่องจากในปัจจุบันดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการประกอบธุรกิจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (2) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) (target) ที่มีมากกว่า 2 ล้านราย ซึ่งนับรวมผู้ประกอบการรายใหม่ (start-up) ด้วย