ดีป้า ขับเคลื่อน 3 สถาบัน ไอโอที เอไอ และบิ๊กดาต้า ครบวงจร มุ่งระดับโลก
ดีป้า เปิดตัว 3 สถาบัน
ไอโอที เอไอ และ บิ๊กดาต้า
ลุยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
เพื่ออนาคตประเทศไทย
พร้อมจับมือ VISTEC เบิกฤกษ์
จัดตั้งสถาบัน AI
4 มิถุนายน 2562, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อเนื่อง ตั้ง 3 สถาบันเพื่ออนาคตประเทศไทย ได้แก่ สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล (IoT and Digital Innovation Institute), สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย (AI Research Institute of Thailand) และ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute) พร้อมจับมือสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์แบบครบวงจร โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องบอลรูม ชั้น 5 โรงแรมควอเตอร์ ลาดพร้าว ซอย 4
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า พันธกิจสำคัญที่ดีป้าได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งทางดีป้า ได้ตระหนักถึงการส่งเสริมสนับสนุนพร้อมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลโดยเร็วในทุกภาคส่วน โดยครั้งนี้นับเป็นอีกวาระสำคัญสำหรับการเปิดตัว 3 สถาบันเพื่ออนาคตประเทศไทยเพื่อการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยทั้ง 3 สถาบันจะมีบทบาทในการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ชุมชน ตลอดจนเครือข่ายในทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านกระบวนการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล จะเป็นแหล่งรวมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีครบวงจร มีพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมดิจิทัลด้านไอโอที และเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล โดยดีป้าได้ตั้งเป้าให้สถาบันไอโอทีฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Thailand Digital Valley โดยมีเทคโนโลยีฐานไอโอที (Internet of things) เป็นตัวเชื่อมผสานกับเทคโนโลยีอื่น ผลักดันให้เกิดวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Startup) ใหม่ๆ รวมถึงการต่อยอดเชิงธุรกิจด้านในหลายด้าน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI), เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual & Augmented Reality), พัฒนาและออกแบบอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device Design and Development), แอปพลิเคชันสำหรับเทคโนโลยี 5G (5G Application) ตลอดจนเทคโนโลยีพื้นฐานและนวัตกรรมดิจิทัลอื่น ๆ (Standard and Other Digital Innovation) ซึ่งสถาบันฯ จะกลายเป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความซับซ้อน (Deep Technology) ของไทยที่ทัดเทียมนานาประเทศได้ในอนาคต สำหรับกลไกการทำงานของสถาบันฯ จะดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตรไอโอทีสากล ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดการบูรณาการจากทุกภาค ส่วนตั้งแต่สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อม สตาร์ทอัพ ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยดีป้าเดินหน้าเต็มที่ ที่จะผลักดัน บ่มเพาะ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ และนำนวัตกรรมดิจิทัลของไทยออกไปสู่ตลาดระดับอาเซียน
สำหรับสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย หรือ AI Research Institute of Thailand ผอ.ดีป้า เผยว่า ดีป้าได้จับมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมดิจิทัล ต่อยอดให้เกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านวิทยาการข้อมูล หรือ Data science และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการ และให้คำปรึกษา สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ทั้งการให้บริการด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ทดลองและทดสอบ สำหรับการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
นอกจากนั้น ยังจัดให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล และไอโอที โดยได้รวบรวมคณะอาจารย์และผู้ฝึกอบรมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน เอไอ ชั้นนำในระดับประเทศ รวมถึงการเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยี สำหรับผู้สนใจเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านวิทยาการข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่กำลังคนภายในประเทศ ทั้งกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล
นอกจากนั้น ยังจัดให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล และไอโอที โดยได้รวบรวมคณะอาจารย์และผู้ฝึกอบรมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน เอไอ ชั้นนำในระดับประเทศ รวมถึงการเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยี สำหรับผู้สนใจเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านวิทยาการข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่กำลังคนภายในประเทศ ทั้งกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล
ด้าน ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี เผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับดีป้า จัดตั้งศูนย์วิจัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งใน 4 แขนงงานวิจัยที่ VISTEC กำลังผลักดันสู่ความเป็นเลิศ โดยความร่วมมือกับดีป้าในการก่อตั้งศูนย์วิจัยดังกล่าวจะช่วยให้ VISTEC สามารถนำผลงานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่เกิดขึ้นในรั้วสถาบันฯ ไปสู่การใช้งานจริงในประเทศได้
อีกหนึ่งสถาบันที่มีความสำคัญคือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ซึ่งอยู่ในแผนที่จะจัดตั้งเป็นสถาบัน และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากร โดยสถาบันฯนี้จะมีภารกิจหลักในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล และคณะกรรมการระดับชาติ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการจัดหาวิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการยกระดับความสามารถและทักษะของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัย และการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้าน กระบวนการวิเคราะห์เซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ โดยดีป้าร่วมเป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษาด้านการดำเนินงานของสถาบันฯ ทั้งนี้ ส่วนของเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ จะมีการคัดเลือกบุคลากรภาครัฐที่มีความสนใจในเทคโนโลยีเข้าทำงาน เพื่อเป็นตัวแทนในการพัฒนาทักษะและบ่มเพาะศักยภาพ และได้นำองค์ความรู้ พร้อมทั้งประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปขยายผลในองค์กรต้นสังกัด และพนักงานส่วนหนึ่งจะเป็นการคัดเลือกนักเรียนทุนระดับประเทศ และสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาแล้ว กลับมาทำงานเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และนำไปสู่การต่อยอดในมิติต่าง ๆ ในอนาคต
“โดยดีป้าตั้งใจที่จะให้ทั้ง 3 สถาบันนี้ได้เป็นสถาบันสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลโดยแท้จริง ทั้งในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างกำลังคน ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีอันเกิดจากองค์ความรู้ของไทยเอง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีศักยภาพ และได้เป็นเทคโนโลยีไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน” ผอ.ดีป้า กล่าว