เปรียบเทียบ คะแนน ‘การเงินที่เป็นธรรม’ ของธนาคารไทย กับนานาชาติ
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย
เปิดคะแนน ‘การเงินที่เป็นธรรม’ 9 ธนาคาร เทียบนานาชาติ
เปิดคะแนน ‘การเงินที่เป็นธรรม’ 9 ธนาคาร เทียบนานาชาติ
กสิกรไทย - ไทยพาณิชย์ - กรุงไทย ขึ้นท็อปลิสต์
กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2562 - แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผย ผลการประเมินนโยบายของสถาบันการเงินในประเทศไทย ประจําปี 2562 โดยใช้แนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด ‘การเงินที่เป็นธรรม’ ถูกใช้เพื่อผลักดันให้เกิด ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ มาแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน โดยประเทศไทยเป็นสมาชิกในลำดับที่ 10
เมื่อประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง พบว่าค่าเฉลี่ยจาก 9 ธนาคารไทย ได้คะแนนเพียง 12.62% ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 46.86%
เมื่อประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง พบว่าค่าเฉลี่ยจาก 9 ธนาคารไทย ได้คะแนนเพียง 12.62% ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 46.86%
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า “คะแนนนี้สะท้อนว่าธนาคารไทยยังมีช่องทางที่จะพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะการออกนโยบายสินเชื่อที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในแง่บวก ธนาคารหลายแห่งมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิผู้บริโภคมากกว่าในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรม”
มาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง ใน 12 หัวข้อ ที่นำมาใช้ในการประเมินนโยบาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ธรรมชาติ ภาษี อาวุธ การคุ้มครองผู้บริโภค การขยายบริการทางการเงิน การตอบแทน ความโปร่งใสและความรับผิด โดยธนาคารที่ขึ้นท็อปลิสต์ในสามอันดับแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย 17.46% ธนาคารไทยพาณิชย์ 14.66% และธนาคารกรุงไทย 14.22%
เป็นที่น่าสนใจว่าจาก 9 ธนาคาร มีเพียงธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ลดโลกร้อนที่ผู้บริโภคเริ่มเห็นความสำคัญ อีกทั้งยังไม่มีธนาคารใดที่อยู่ในการประเมินนี้ได้รับคะแนนในหัวข้อธรรมชาติ ชี้ให้เห็นว่ายังขาดคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงที่จะก่อผลกระทบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านความเท่าเทียมทางเพศ ก็มีเพียงธนาคารกรุงเทพและธนาคารเกียรตินาคินที่ได้คะแนนเนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจน หรือแม้แต่ในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคม ก็มีเพียงธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เพียงสองแห่งที่มีนโยบายรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
ธนาคารที่อยู่ในการประเมินนี้ มีทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคิน โดยเป็นการประเมินครั้งแรก ภายหลังการกำเนิด แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair FinanceThailand) ในปี 2561 ที่มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทวิจัย ป่าสาละ จำกัด และองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ มุ่งติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคารต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (Sustainable Banking) อย่างแท้จริง
ประเด็นที่น่าสนใจจากการเสวนา ในหัวข้อ
‘ความคาดหวังของภาคประชาชน
ต่อบทบาทเรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ของธนาคาร’
‘ความคาดหวังของภาคประชาชน
ต่อบทบาทเรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ของธนาคาร’
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า จากสถิติแล้วในเมืองไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษและสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี ราว 6 หมื่นคน ซึ่งน่าเป็นห่วง และในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการเติบโตของอุตสาหกรรมกำจัดของเสียในประเทศไทยเพิ่มสูงมาก อันเนื่องจากกำแพงด้านกฎหมายในประเทศจีน กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ห้ามมีการกำจัดพลาสติกหลายประเภทรวมทั้งขยะและของเสีย ส่งผลให้มีการมาลงทุนกำจัดขยะและของเสียเหล่านี้ในประเทศไทย ซึ่งภาคการธนาคารและการลงทุนควรมีบทบาทที่จะปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชีวิตของคนไทยจากกรณีดังกล่าว
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์แม่น้ำ เป็นเรื่องสำคัญในระดับภูมิภาค เนื่องจากส่งผลกระทบต่อหลายประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน อย่างเช่น แม่น้ำโขง ทั้งนี้จากกรณีโครงการเซเปียน เซน้ำน้อย ในลาว ซึ่งเกิดการถล่มในปี 2561 ส่งผลให้มีชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้ถือหุ้นในธนาคารที่ปล่อยกู้ให้โครงการเขียนจดหมายสอบถามไปยังผู้บริหาร ก็ได้การตอบรับโดยปัดความผิดชอบไปยังเจ้าของโครงการ และแจ้งว่าได้ทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้ว จึงต้องตั้งคำถามว่ามาตรฐานที่ยึดนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปกป้องชีวิตผู้คนหรือไม่ อย่างไรก็ตามยังมีกรณีศึกษาดีๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน เช่น การประกาศโดยพม่า ที่มีการกำหนดห้ามมีการลงทุนใดๆ ในการสร้างเขื่อนหรือการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสำคัญในประเทศ 5 สาย เพื่อรักษาสายน้ำให้คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิต
อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) มองว่าแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจ (EEC) ที่น่าจะส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ภาคการเงินและการธนาคารจะมีบทบาทในการดูแลเป็นอย่างมาก เพราะสามารถกำกับดูแลไปได้ไกลกว่ากฎหมายหรือการควบคุมโดยรัฐ ที่อาจะมีข้อจำกัดและขั้นตอนที่มากกว่า อีกทั้งภาพรวมการลงทุนในเมืองไทยนั้นยังคำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่ายินดีที่จากผลการประเมินพบว่าธนาคารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ยังมีกรณีที่มีการละเมิด เช่น การขายประกันทางโทรศัพท์ การเสนอขายสินเชื่อทางโทรศัพท์ การส่งข้อความข้อเสนอต่างๆ หรือการถูกบังคับทำประกันสินเชื่อ ที่ถูกร้องเรียนเข้ามามาก ทั้งๆ ที่มีทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่ออยู่แล้ว หรือแม้แต่การจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาพิจารณาคดีที่มียอดเงินจำนวนไม่มาก เพื่อลดภาระการทำงานของศาลและเพิ่มความรวดเร็วแก่ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีข้อเรียกร้องหลายกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาและต้องการหาทางออกร่วมกับธนาคาร จุดนี้ก็เป็นจุดที่ต้องสร้างพัฒนาการต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจจากการเสวนา ในหัวข้อ
‘ทิศทางการธนาคารที่ยั่งยืน’
‘ทิศทางการธนาคารที่ยั่งยืน’
สวิสา อริยปรัชญา รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเองมองการธนาคารทั้งยั่งยืนตามกรอบของ ESG ที่ประกอบด้วยการคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) มีการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมธนาคาร องค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการธนาคารที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานั้นเรามีความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น กรณีฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้เม็ดเงินในการท่องเที่ยวลดลง หรือกรณีการเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศที่ส่งให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งเราเชื่อว่าการธนาคารที่ยั่งยืนจะเป็นส่วนหนึ่งของแก่เยียวยาปัญหา นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการหารือกำหนดแนวทางกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนจากนักลงทุน และกำลังมองหาเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะนำภาคสังคมเข้ามาร่วมประเมินด้วย
นิกร นิกรพันธุ์ ผู้จัดการ Corporate Sustainability Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารเองก็พยายามศึกษาดัชนี Fair Finance Guide เพื่อให้เข้าใจความคาดหวังของภาคสังคมมากขึ้น จากสถานการณ์โลกร้อนหรือฝุ่น PM 2.5 เป็นกรณีที่เราไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นปัญหาที่ใกล้ตัว แต่กลายมาเป็นปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจ ยังมีต้นทุนแฝงด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องกำหนดความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม นับเป็นความท้าทายของนักการธนาคารรุ่นใหม่ที่จะต้องขยายขอบเขตการให้ความสำคัญในการพิจารณาที่กว้างกว่านักการธนาคารรุ่นเก่า และที่สำคัญ การขับเคลื่อนนี้ต้องไปพร้อมกันในทุกภาคส่วน