กิจกรรมเปิดตัว “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์” (Smart City Thailand Takeoff)
วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
ณ ห้องบอลรูม โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ
หลักการและเหตุผล
รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๖๗/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งคณะทำงานฯ นี้ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ และยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี พร้อมบูรณาการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในช่วง ๑-๒ ปีแรกนั้น คณะกรรมการฯ ได้ใช้กลไกนำร่องนำโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อริเริ่มพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ที่มีความพร้อมสูง หรือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามนโยบายของรัฐบาลก่อน ยกตัวอย่างเช่น เมืองอัจฉริยะภูเก็ต เมืองอัจฉริยะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเมืองอัจฉริยะพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะต้องเกิดจากความต้องการและการออกแบบโดยพื้นที่อย่างแท้จริง และจะต้องเปิดกว้างให้เมืองทั่วประเทศสามารถพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้จัดให้มีการรับสมัครเมืองอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจริยะประเทศไทย (City Challenge) ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศในปี ๒๕๖๒ เดินหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป เกิดการรับรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดกิจกรรมเปิดตัว “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์” (Smart City Thailand Takeoff) ขึ้น ซึ่งงานนี้ประกอบด้วย การประกาศนโยบายและกิจกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ และเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครเมืองอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย และเผยแพร่แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อประกาศนโยบายและกิจกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย
๒) เพื่อประกาศเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ และประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครเมืองอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย
๓) เพื่อประกาศตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะของประเทศไทย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ให้เป็นที่รู้จัก และเกิดการนำไปใช้งานในวงกว้าง
๔) เพื่อสร้างการรับรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมดำเนินการ หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า ๒๕๐ คน โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
๑. หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ
• คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
• หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
• หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน
• หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมมนาคม
• หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๒. เมืองอัจฉริยะ และหน่วยงานท้องถิ่น
• ผู้บริหารและผู้แทนจากเมืองต่างๆ ที่สนใจ
• กลุ่มประชารัฐในเขตพื้นที่ภูมิภาค/ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
๓. ภาคเอกชน สมาคมการค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภาคธุรกิจรายสาขาที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล (Digital Startup)
๔. สื่อมวลชน ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ไม่น้อยกว่า ๒๐ สื่อ